กองทุนรวม
อีสท์สปริง หนุนการลงทุนครึ่งปีหลัง 67 เปิดตัวแอปใหม่-เตรียมรุกตลาด PVD พร้อมชูหุ้นสหรัฐ-อินเดีย ผ่าน 4 กองทุนเด่น


 

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ว่า โลกยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ และ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความผันผวนของภาพรวมการลงทุน โดยบลจ.อีสท์สปริง ได้มุ่งเน้นให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตแบบสร้างสมดุลเพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนพลาดโอกาสในการลงทุน และช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ พร้อมการออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบัน บลจ.อีสท์สปริง สามารถบริหารจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Funds หรือ FIFs) ได้โดดเด่น และ มีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนรวม FIF ตราสารหนี้ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 19% และ ยังครองสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับ 2 ในกองทุน FIF ตราสารทุน ด้วยส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 13% (ข้อมูลจาก AIMC ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2567) 

 
นางสาวดารบุษป์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนของ บลจ.อีสท์สปริง ในระยะยาวมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้คนในสังคมเพื่อรองรับการเกษียณ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์กองทุน Term Fund ร่วมกับทางธนาคารทหารไทยธนชาติ เพื่อเป็น  Complimentary Service สำหรับหรับกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้น ส่วนกองทุน Short Term Investment Fund (STIF) จะมีกลไกควบคุมความเสี่ยงหลายอย่างเพิ่มเข้ามา ทั้งเกณฑ์จากทาง ก.ล.ต. และเกณฑ์จากทางภายในบลจ. เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความสบายใจมากยิ่งขึ้น
 
 
และโดยหลังจากได้พัฒนานวัตกรรมใหม่พร้อมเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชัน Eastspring M Choice TH เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บลจ.อีสท์สปริง ยังได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อการบริการเพิ่มเติมโดยให้สมาชิกสามารถปรับสัดส่วนอัตราเงินสะสมผ่านช่องทางดิจิทัลได้ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มกระดาษ นอกจากนี้ ยังต่อยอดการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อขยายตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้วยการเปิดตัว Eastspring PVD Employer Online บริการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นายจ้าง และ Eastspring PVD Fund Committee สำหรับคณะกรรมการกองทุนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการสมาชิกผ่านโมบายแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ถือเป็นธุรกรรมที่ทำได้ทันทีแบบไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องมีการส่งข้อมูลทางอีเมลระหว่างกัน รวมถึงไม่ต้องนำส่งกระดาษเพื่อเวียนลงนาม ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการทำงานแบบ Smart Work-Smart Solution 
 
“ด้วยจุดแข็งของการมีผลิตภัณฑ์ที่มีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายกว่า 30 นโยบาย ตลอดจนการพัฒนาด้านการบริการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บลจ.อีสท์สปริง มีจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีลูกค้ารวม 1,949 บริษัท จำนวนสมาชิก 168,115 ราย และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 61,682 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567)” นางสาวดารบุษป์ กล่าว
 

 
ด้านนายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง  เปิดเผยถึงผลตอบแทนครึ่งปีแรกที่ผ่านมาว่า ในกลุ่มหุ้น สำหรับหุ้นญี่ปุ่นมีผลตอบแทน 19.3% หุ้นจีนให้ผลตอบแทน 11.3% เวียดนาม 11% อินเดีย 10% ส่วนดัชนี Asia Pacific ex Japan ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 9% กลุ่มตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets อยู่ที่ประมาณ 7% ดัชนีตลาดหุ้นจีน CSI 300 อยู่ที่ประมาณ 2% ส่วนหุ้นอินโดนีเซีย JCI อาจจะติดลบไปบ้าง และสุดท้าย SET Index ของไทย ติดลบอยู่ที่ 6% แต่โดยรวมแล้ว ตลาดโดยทั่วไปยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดี บลจ.อีสท์สปริง จึงประเมินว่าในครึ่งปีหลังตลาดหุ้นยังคงความน่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากธีม AI  ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียเป็นอีกตลาดที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้โดดเด่นในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้กลุ่มตราสารหนี้สหรัฐฯก็คาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้น่าสนใจหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส4 ของปีนี้
 
 
โดยครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ พิจารณาจากตราสารหนี้ที่เป็น Non-Investment Grade มีความเสี่ยงสูง อย่าง High Yield Bond มีผลตอบแทนดีอยู่ที่ 3.88% ในขณะที่ตราสารหนี้แบบ Investment Grade ที่มีอันดับเครดิต BBB ขึ้นไป กลับได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าตัวเสี่ยง บ่งบอกถึงสภาวะตลาดที่ค่อนข้างรับกับความเสี่ยงได้ และคาดการณ์ว่าสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่เกิด Hard Landing ประกอบกับ GDP สหรัฐฯ ที่แม้จะลดลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะลักษณะการเติบโตที่ลดลงมีที่มาจากดุลการค้าและการปรับ Inventory ที่เป็นสินค้าคงเหลือที่เป็นรายการอยู่ในงบแสดงสถานะการเงิน อีกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของสหรัฐฯยังคงเติบโต ตลาดแรงงานมีโอกาสเข้ามาสู่จุดสมดุล และสถานการณ์เงินเฟ้อที่ไล่ระดับลงมา เป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ 
 
 
“สถานการณ์เงินเฟ้อที่ดูดีขึ้นในปัจจุบันที่ 2.6% ซึ่งลดลงมาใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้เราคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เราประเมินว่าผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความผันผวนแค่ชั่วคราว และ จะเป็นจังหวะในการสร้างโอกาสการลงทุน” นายยิ่งยง กล่าว
 
นอกจากนี้นายยิ่งยงยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ Long Term Rate ที่ 2.8% มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะยังสูงกว่าที่ไทยไปอีกสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ก็มีโอกาสน้อยมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอีก และคาดการณ์ว่าอาจมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทไทยยังอ่อนอยู่
 
 
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงแนวทางการลงทุน กลุ่มหุ้นไทยและจีนยังคงเผชิญความเสี่ยงในด้านโครงสร้างอยู่ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดียมีความน่าสนใจ รวมถึงตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระดับประมาณ 5% ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1-2 ครั้งในสิ้นปี 2567
 
“สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะเกิดการชะลอตัวแบบ Soft Landing ไม่ใช่ Recession เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ที่ตลาดกังวล อีกทั้งยังมีปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้โดยรวม และกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตได้อยู่ ซึ่งทางบลจ.คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯในกลุ่มนี้น่าจะเติบโตได้อีก 7% ในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนตลาดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตขึ้นมาอีก 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน” นายบดินทร์ กล่าว
ส่วนตลาดหุ้นทางฝั่งเอเชียที่น่าสนใจ คือตลาดหุ้นอินเดีย เนื่องจากมีความมั่นคงทางสถานการณ์การเมือง แม้ผลการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมก็ตาม แต่ยังมีความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย แสดงให้เห็นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ช่วงต้นปี GDP ของอินเดียเติบโต 7%  และเติบโตขึ้นมา ณ ปัจจุบันที่ 7.8% ตามการคาดการณ์ ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ในตลาดหุ้นอินเดียจะเติบโตได้อีก 8-9% ในช่วงสิ้นปี 2567 และโต 14% ในปี 2568 นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในอนาคต คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะหลั่งไหลไปยังตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียมากขึ้น
 
 
ฉะนั้น สำหรับการลงทุนในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 มี 4 กองทุนเด่นที่อีสท์สปริงแนะนำ คือ 
 
1.กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Information Technology (ES-USTECH)  ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ 
 
2.กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Blue Chip Equity (ES-USBLUECHIP) ที่ลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯที่มีการเติบโตของรายได้ กำไร รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม 
 
3.กองทุนเปิดอีสท์สปริง India Active Equity (ES-INDAE)  ที่เน้นลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนโดยจะลงทุนหุ้นที่มีภูมิลำเนาหรือมีกำไรหรือรายได้หลักในประเทศอินเดีย 
 
4.กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Income (ES-GINCOME)  ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกเพื่อสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว

คำเตือน
 
เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน / หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ได้รับการแต่งตั้ง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ค. 2567 เวลา : 21:07:46
08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:50 am