ซีเอสอาร์-เอชอาร์
แถลงการณ์เกี่ยวกับมติของรัฐบาลไทยในการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย


 
องค์การยูนิเซฟ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ร่วมแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทย หลังจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจะเป็นการขยายความคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมถึงเด็กผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังขอแสดงความยินดีกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันให้เกิดการถอนข้อสงวนครั้งนี้ โดยหลังจากนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการถอนข้อสงวนอย่างเป็นทางการผ่านองค์การสหประชาชาติต่อไป

 
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ในปี 2535 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนมาตราที่ 22 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย การถอนข้อสงวนในครั้งนี้หมายถึงประเทศไทยได้ให้คำมั่นที่จะคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสถานะของพวกเขา

การประกาศถอนข้อสงวนอย่างเป็นทางการได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อหลักสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้แสดงความมุ่งหวังว่าการถอนข้อสงวนครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทยรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัย

การถอนข้อสงวนครั้งนี้ยังแสดงถึงเจตจำนงของประเทศไทยต่อหลักสิทธิเด็กและพันธกรณีของรัฐบาลที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศของตน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 อีกด้วย

 
คยอนซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราขอชื่นชมการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาความเป็นอยู่และการส่งเสริมสิทธิเด็กมีความก้าวหน้าอย่างมากในประเทศไทย และการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 นี้ถือเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคครั้งสำคัญเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างเต็มที่และความเท่าเทียม และยังเป็นการช่วยให้ยูนิเซฟสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ รวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมไทยที่เข้มแข็งและเท่าเทียมยิ่งขึ้นต่อไป”

นาจาต มาลา มะจิด ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็ก กล่าวว่า “เด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ การถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามที่ได้หารือกับตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นก้าวสำคัญด้านความคุ้มครองเด็กและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กโดยไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายและวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคน”

ความสำเร็จในครั้งนี้มีรัฐบาลไทยเป็นผู้นำ ร่วมกับการผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากยูนิเซฟ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความรุนแรงต่อเด็ก คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานสหประชาชาติ ภาคประชาสังคม และผู้สนับสนุนระหว่างประเทศ ในปี 2562 ยูนิเซฟและสหภาพยุโรปได้จัดทำรายงาน “ปิดช่องว่าง การศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในมิติของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กแสวงหาที่พักพิง” และจากนั้นได้ดำเนินงานร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดการถอนข้อสงวนครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง

แอน สเกลตัน ประธานคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า "เราขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยสำหรับความก้าวหน้าครั้งสำคัญนี้ที่จะนำไปสู่สิทธิเต็มรูปแบบของเด็กทุกคน คณะกรรมการ ฯ ได้สนับสนุนการทำงานขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยมาโดยตลอดในการแสดงให้เห็นว่าการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 เป็นสิ่งที่ทำได้และสมควรทำ และเป็นที่น่ายินดีที่การดำเนินงานนั้นได้เกิดผลสำเร็จแล้ว เราหวังว่าการถอนข้อสงวนครั้งนี้จะทำให้เด็กทุกคนในประเทศไทยมีชีวิตและอนาคตที่สดใสขึ้นในปัจจุบันและอนาคต"

ยูนิเซฟยังตระหนักถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเดินหน้าคุ้มครองสิทธิของเด็กไร้สัญชาติและเด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยในการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้ว  ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม 2566 ประเทศไทยมีเด็กไร้สัญชาติที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 171,635 คน ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กกลุ่มนี้ และให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสในการเติบโตและมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของประเทศต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2567 เวลา : 20:22:23
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:57 pm