ตลาด Taxi ไฟฟ้า (BEV) เติบโตขึ้นทุกขณะ โดยปี 2567 นี้ ส่วนแบ่งน่าจะสามารถพุ่งไปอยู่ที่ 49% ของยอดจดทะเบียน Taxi ใหม่ทั้งตลาดที่คาดว่าจะมี 3,300 คันได้
• ในทางกลับกัน Taxi NGV คาดส่วนแบ่งลดเหลือ 15% จากปัญหาต้นทุนที่สูงกว่าและการหาปั๊มเติมยาก ขณะที่ Taxi LPG แม้ราคาแก๊สเพิ่มเช่นกัน แต่ปริมาณปั๊มที่ยังมาก ทำให้ยังเป็นทางเลือกแก่กลุ่มที่ยังไม่พร้อมหรือกังวลเรื่องเทคโนโลยีใหม่
ในขณะที่ปริมาณ Taxi สะสมในกรุงเทพฯทยอยลดลงหลังการมาของโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกมากขึ้น เรากลับพบว่าปริมาณ Taxi ไฟฟ้า (BEV) บนท้องถนนนั้นเร่งตัวขึ้น แม้จะยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งตลาด (ยอดจดทะเบียน Taxi ไฟฟ้า สะสมอยู่ที่ 1,211 คัน ณ 30 มิถุนายน 2567 จากทั้งตลาดที่ 75,184 คัน) (รูปที่ 1)
ซึ่งในปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการซื้อ Taxi ใหม่ เพื่อทดแทนคันเก่าที่หมดอายุในพื้นที่กรุงเทพฯน่าจะเป็น Taxi ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยอาจมีส่วนแบ่งสูงถึง 49% ของตลาด Taxi ป้ายแดงที่คาดว่าจะมีทั้งหมดราว 3,300 คัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของ Taxi ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนรูปแบบอื่น เช่น น้ำมัน แก๊ส LPG และแก๊ส NGV รวมกันลดเหลือเพียง 51% จากเดิมอยู่ที่ 86% ในปี 2566 (รูปที่ 2)
สำหรับสาเหตุหลักที่ Taxi ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมากคาดว่ามาจากต้นทุนของทั้งฝั่งคนขับ Taxi และฝั่งผู้ประกอบการให้เช่า Taxi นั้นถูกลงกว่าการใช้ Taxi ที่เป็นพลังงานรูปแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณี Taxi ส่วนบุคคลที่เป็น Taxi ไฟฟ้า ต้นทุนต่อวันก็จะถูกลงอีกมาก เนื่องจากสามารถชาร์จไฟจากที่พักอาศัยได้เลยในระดับเดียวกับค่าไฟบ้าน (รูปที่ 3,4)
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องต้นทุนแล้ว ความไม่สะดวกในการหาปั๊มเติมแก๊สก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ หลังมีสัญญาณการทยอยปิดตัวลงของปั๊มแก๊ส จากการที่ราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมาของ Taxi ไฟฟ้า แต่ก็มีผลทำให้ Taxi กลุ่มพลังงานอื่น โดยเฉพาะ NGV อาจเติบโตได้ลำบากขึ้นในอนาคตจากความไม่สะดวกดังกล่าว (รูปที่ 5)
มองไปข้างหน้า การซื้อ Taxi ใหม่ที่เป็นไฟฟ้ามีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกที่เหนือกว่า Taxi กลุ่มอื่น โดยเฉพาะ Taxi NGV ที่การซื้อเพิ่มน่าจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในอนาคตคาดว่าจะลดลงอีกจากปีนี้ที่มีอยู่เพียง 15% (ปี 2566 Taxi NGV มีส่วนแบ่งตลาดที่ 31%) ทั้งจากปัญหาราคาแก๊ส NGV ที่อาจถูกปล่อยให้ลอยตัวในอนาคตและปริมาณปั๊มแก๊สที่อาจลดลงอีก (รูปที่ 6)
ในอนาคตจึงอาจเหลือเพียง Taxi LPG ที่น่าจะยังพอไปต่อได้สำหรับ Taxi ที่ใช้พลังงานอื่น แม้ต้นทุนราคา LPG จะสูงกว่า Taxi ไฟฟ้า เช่นกัน แต่การหาปั๊มแก๊ส LPG เพื่อเติมพลังงานยังสะดวกกว่าปั้มแก๊ส NGV มาก ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ประกอบการ Taxi ที่ยังไม่มั่นใจหรือพร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี BEV
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของ Taxi ไฟฟ้า จะรุดหน้าต่อเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ การจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท๊กซี่แบบเช่าที่ไม่ต้องการให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ประจำวัน นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจให้เช่า Taxi กับกลุ่มคนขับ Taxi ที่เป็นเจ้าของรถเอง อาจมีประเด็นเพิ่มเติมอย่างค่าซ่อมที่ควบคุมไม่ได้แต่กลับมีมูลค่าซ่อมสูงอย่างอุบัติเหตุที่มีผลต่อแบตเตอรี่ เป็นต้นด้วย
ข่าวเด่น