เข้าพรรษนี้ สสส.-สคล. ชวนคนไทยงดเหล้า “เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ใน 90 วัน” นำสังคมเปี่ยมสุข ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง ชูหลักสูตร “SoBrink” เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เปลี่ยนค่าเหล้าเป็นเงินออม เผย ปี 66 ปชช. ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มเป็น 10.2 ล้านคน พบ 66.3% มีสุขภาพกาย-ใจดีขึ้น ประหยัดเงินค่าเหล้า 4.2 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าวฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา 2567 “เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ใน 90 วัน” พร้อมเปิดตัว TVC รณรงค์ แคมเปญ "งดเหล้า ได้คุณคนใหม่” สื่อสารสังคมว่าการเริ่มงดเหล้าแม้จะช่วงระยะสั้นๆ ก็สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลง จนเสมือนเปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ได้
โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2566 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 10.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่ดื่มทั้งหมด 24.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 7.7 แสนคน แบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดพรรษา 21.3% ผู้ที่งดบางช่วง 9.1% และผู้ที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 10.5% โดยกลุ่มตัวอย่าง 66.3% ระบุว่าได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายดีขึ้น สุขภาพจิตใจดีขึ้น รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,506.97 บาท รวมทั้งประเทศประหยัดได้ราว 4.2 พันล้านบาท
“ผลกระทบจากสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงวิถีชีวิตของคนและสังคมที่เปลี่ยนไป นำมาสู่การปรับแนวทางการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2566-2567 ให้ทันกับสถานการณ์สังคม สสส. ใช้แนวคิดขับเคลื่อนงานที่เชื่อมโยงสู่มิติทางสุขภาวะ Healthy Sobriety สังคมสุขปลอดเหล้า สสส. ขอใช้โอกาสช่วงเข้าพรรษา 90 วัน เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงตัวเอง ภายใต้แคมเปญ “งดเหล้า 3 เดือน ได้คุณคนใหม่” โดยเริ่มจากการลด ละ และนำไปสู่การเลิกดื่มถาวร ฟื้นกาย ฟื้นใจ ฟื้นความสัมพันธ์ ถือเป็นการตัดโอกาสความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายอีกหลายชนิด” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2567 นี้ สคล. ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน กว่า 3,500 แห่ง ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างการรับรู้และเชิญชวนงดเหล้าเข้าพรรษา รวมทั้งตั้งจุดลงนามปฏิญาณตน โดยมีโปรแกรม Sober CHEERs ซึ่งเป็นการจัดเก็บระบบฐานข้อมูล และติดตามผู้ที่เข้าร่วมบวชใจงดเหล้า ที่สมัครใจร่วม ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา โดยใช้โมเดล SoBrink Soclub มีชมรมคนหัวใจเพชร 40 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกันรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลง ร่วมงดเหล้า ออมเงิน ลดหนี้ เพิ่มสุขให้ครอบครัว และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร 80 แห่งทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงด้าน เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต ด้วยสมุนไพรและธรรมชาติบำบัด ให้แก่ว่าที่คนหัวใจเพชร ได้รับประสบการณ์การเป็นคนใหม่ ในช่วง 3 เดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ถ่ายทอดนวัตกรรม SoBrink Soclub บริหารจัดการโดยชมรมคนหัวใจเพชร เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านแนวทางลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้แก่ชุมชนและประชาชนที่สนใจ จำนวน 9 ศูนย์กระจายทุกภูมิภาค
นางสาวฟ้าอิงตะวัน ไวยกรรณ์ นักกระบวนกรหลักสูตรเสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต สคล. กล่าวว่า ตนเป็นสาวสายปาร์ตี้ ชีวิตวนเวียนอยู่กับเหล้าเกือบ 24 ชม. จนเมื่ออายุ 38 ปี ตรวจพบอาการตับแข็ง และค่าตับที่สูงมีแนวโน้มของการเป็นมะเร็งตับ จึงหันมาเริ่มศึกษาภูมิปัญญาจากแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพื่อช่วยล้างพิษและเสริมพลังตับ จนพบว่าสมุนไพรไม่ได้ปรุงเป็นยาเพื่อรักษาเท่านั้น แต่ปรุงเป็นอาหาร และเครื่องดื่มได้ จึงพัฒนา สูตร SoBrink ใช้สมุนไพรต่อต้านอนุมูลอิสระ มีทั้งสูตรอาหาร และเครื่องดื่ม จากพืช ผัก สมุนไพรที่หาได้จากหลังบ้าน มาแปลงเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อล้างพิษตับ เสริมพลังตับ และเลือกวัตถุดิบที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูป และทำควบคู่กับกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิต คือ นอนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด ออกแดด ออกกำลังกาย ให้อภัยไม่เครียด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่นำสูตรนี้ไปใช้ได้รับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ในช่วง 3 เดือนนี้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล และการจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “SoBrink”
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง มุ่งสร้างรากฐานการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ หนี้ครัวเรือน และหนี้ส่วนบุคคล เพราะมีรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ ขาดการวางแผนด้านการเงิน ปัญหาคือไม่มีเงินเก็บ แนวทางการแก้ไข ต้องเสริมทักษะการวางแผนทางด้านการเงิน ให้ความสำคัญในการออมเงิน เก็บทีละเล็ก ทีละน้อยจนเป็นนิสัย จึงอยากแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น และทำลายสุขภาพ ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเงินค่าเหล้ามาเป็นเงินออม โดยเริ่มออมกับ กอช. เป็นการออมเพื่ออนาคต สำหรับเป็นเงินบำนาญหลังจากเกษียณ ท่านที่สนใจ สอบถามที่ สายด่วนเงินออม โทร. 02 049 9000
นายชาคริต จินะคำปัน อายุ 42 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านเกาะกลาง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และคนหัวใจเพชรชุมชนสุขปลอดเหล้าบ้านเกาะกลาง กล่าวว่า ดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 20 ปี กลายเป็นคนขี้เหล้า ไม่ทำอะไร ไม่มีใครไว้ใจ หลังจากพ่อป่วยทำอะไรไม่ได้ จึงตัดสินใจ “หักดิบ” เลิกดื่มแบบจริงจัง พอได้กินอิ่มนอนหลับ ร่างกายได้พักผ่อนก็มีแรง สามารถมาทำงานประกอบอาชีพ มีรายได้ มีเงินเก็บ คนในชุมชนได้เปิดโอกาสให้เราเข้ามาช่วยงานสังคม ช่วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้ชักชวนคนในหมู่บ้านเลิกดื่มเหล้าไปได้แล้วหลายคน ต่อมาเก็บออมเงินซื้อรถป้ายแดง ไว้ใช้ประกอบอาชีพ และออมเงินต่อ จนปลูกบ้านสำหรับครอบครัวได้สำเร็จ
ข่าวเด่น