นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์เลิศเลออร่อยล้ำ ตอกย้ำชื่อเสียงอาหารไทย
เดือนมิถุนายนที่เพิ่งจะผ่านมา Taste Atlas เว็บไซต์ด้านอาหารชื่อดังของโลกได้จัดอันดับ 10 เมนูจากมะม่วงที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเมนูมะม่วงของบ้านเราก็ขึ้นแท่นติดดาวอีกเช่นเคย
ทายซิ เมนูไหนของไทยที่ติดตราตรึงใจชาวโลก
แน่นอนว่ามีหลายรายการเชียว ประเดิมด้วย “ข้าวเหนียวมะม่วง” ซึ่งคว้าที่ 2 ไปครองโดยปราศจากเสียงโต้แย้ง ตามมาด้วย “มะม่วงน้ำปลาหวาน” ที่พิชิตอันดับ10 ชวนให้หยิบมาเคี้ยวซี้ดซาด
งานนี้บรรดามะม่วงเมนูอื่น ๆ ต่างไม่ยอมน้อยหน้า ทยอยกันมาเป็นขวัญใจนักชิมทั่วโลกทั้ง ส้มตำมะม่วงที่คว้าอันดับ 11 น้ำปลาหวาน อันดับ 16 และ มะม่วงดองของบ้านเราก็คว้าอันดับ 23 อีกด้วย
อีกหนึ่งความชื่นใจในภูมิปัญญาด้านอาหารของไทย ที่คงคุณค่าชวนชิมลิ้มลอง
แต่ละเมนูล้วนแต่โอชารส เทให้หมดหัวใจ
แต่เอ๊ะ ! อะไรทำให้รับรู้รสชาติ ?
ไปหาคำตอบกันด้วยวิทยาศาสตร์กับเนื้อหาเรื่อง ระบบประสาทและอวัยวะรับความรู้สึก หนังสือเรียนชีววิทยา มัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่ม 5 บทที่ 18 “อวัยวะรับความรู้สึก ลิ้น ผิวหนัง” กับ Project 14 แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง สสวท.พัฒนาขึ้นเป็นสื่อช่วยสอนและผู้ช่วยคุณครูคนเก่งอธิบายเพิ่มความเข้าใจให้ชั้นเรียน
เพราะพร้อมด้วยเนื้อหาความรู้ ตัวอย่างช่วยอธิบายเรื่องยาก ๆ ซับซ้อน หรือนักเรียนอาจนึกภาพไม่ออก ให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นโดยใช้ภาพ คลิป แอนิเมชั่น หรือ อินโฟกราฟิก เสริมเพิ่มความกระจ่างไขข้อสงสัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นเรื่องใกล้ ๆ ตัวหัวข้อนี้ โดยเมื่อโฟกัสไปที่ ลิ้น อวัยวะรับความรู้สึก ซึ่งอยู่ภายในช่องปากของมนุษย์ ก็จะพบว่าที่ด้านบนของผิวลิ้นจะมีตุ่มเล็ก ๆ มากมาย ปุ่มเล็ก ๆ นี้เรียกว่า พาพิลลา บางพาพิลลาจะมีตุ่มรับรสหลายชนิด ประกอบด้วยเซลรับรส เซลฐาน เซลค้ำจุน เซลทั้งหมดประกอบกันเป็นตุ่มรับรส ซึ่ง Project 14 นำเสนอเนื้อหาพร้อมอธิบายด้วยภาพเสริมความเข้าใจผู้เรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แล้วรู้ไหมเอ่ยว่า “การรับรส” เป็นการผสมผสานของรสพื้นฐาน คือ รสหวาน รสขม รสเปรี้ยว รสเค็ม และรสอร่อยหรืออูมามิ
ส่วนความรู้สึก “เผ็ด” ไม่ใช่รส แต่เป็นความรู้สึกเจ็บปวดผสมกับความรู้สึกร้อน โดยความเผ็ดนั้นแท้จริงเกิดจากสารเคมีในพริก เชน แคปไซซิน ต่างหาก
เฉพาะอย่างยิ่งการได้ “กลิ่น” และ “การรับรส” ยังมีความสัมพันธ์กันด้วยนะ
สังเกตุง่าย ๆ ในช่วงที่เราไม่สบาย ป่วยเป็นไข้หวัด ทำไมเราถึงรับประทานอาหารไม่อร่อย ?
นั่นก็เพราะการได้กลิ่นและการรับรสมีความสัมพันธ์กัน สมองถูกฝึกให้รับกลิ่นและรสพร้อม ๆ กัน ดังนั้นเมื่อป่วยเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะถูกคลุมด้วยเมือก จึงรับกลิ่นไม่ได้ เมื่อขาดการรับกลิ่นแล้วแม้ว่าลิ้นจะยังรับรสได้ แต่ก็จะรู้สึกว่ารับประทานอาหารไม่อร่อย
ไปร่วมกันหาคำตอบว่าลิ้นรับรสต่าง ๆ ได้พร้อมกันอย่างไร และเรียนรู้ไปกับบทเรียนเรื่อง “อวัยวะรับความรู้สึก ลิ้น ผิวหนัง” พร้อมด้วย Project 14 แพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนคุณครูคนเก่งได้ที่ https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m6-bio-book5/bio-m6b5-010
สมัครใช้ฟรี Project 14 สะดวกทุกที่ ทุกเวลา เนื้อหาตรงตามหนังสือเรียน สสวท.
ข่าวเด่น