หุ้นทอง
ก.ล.ต. กล่าวโทษ Zipmex และอดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อ บก.ปอศ. กรณีเผยแพร่หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล


 
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) กรณีเผยแพร่หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยประการที่น่าจะทําให้มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ในฐานะบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของ Zipmex ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

ก.ล.ต.ตรวจพบข้อเท็จจริงที่ทำให้พิจารณาได้ว่า Zipmex ได้เผยแพร่หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากพบว่า ข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Zipmex Token (ZMT) ที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท Zipmex* ไม่ถูกต้องตรงกันในการแสดงข้อมูลต่อผู้ลงทุน บุคคลทั่วไป และ ก.ล.ต. เช่น ไม่แสดงข้อมูลราคาซื้อขายเหรียญที่มีการซื้อขายที่ราคาต่ำ หรือแสดงราคาและปริมาณซื้อขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในช่วงปี 2564 – 2565 เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนสำคัญผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อขายหรือราคาซื้อขายดังกล่าว

การกระทำดังกล่าวของบริษัท Zipmex เข้าข่ายเป็นความผิดการเผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยประการที่น่าจะทําให้มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 40 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)

กรณีของนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท Zipmex สั่งการ หรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้บริษัท Zipmex กระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 40 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบริษัท Zipmex และนายเอกลาภ ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลยพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษแล้ว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ค. 2567 เวลา : 20:19:51
08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:22 am