เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : กัมพูชาไฟเขียว "คลองฟูนันเตโช" 5 ส.ค. นี้ เตรียมเป็นศูนย์กลางขนส่งใหม่ของโลก


 

จากประเด็นร้อนแรงในฝั่งอาเซียน ที่กัมพูชาเตรียมเดินหน้าโครงการขุด “คลองฟูนันเตโช” ด้วยเงินลงทุนจากทางการจีน ซึ่งจะทำให้เส้นทางการคมนาคมทางน้ำของกัมพูชาไม่ต้องพึ่งพาเวียดนามอีกต่อไปนั้น ได้สร้างความกังวลให้กับระบบนิเวศบริเวณแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อกับหลายประเทศ รวมถึงประเด็นด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคโดยรอบ แม้จะไม่มีการยืนยันอย่าง การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ที่ทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ส่งจดหมายไป แต่ล่าสุดนี้ ทางการกัมพูชา ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในการเริ่มขุดคลองฟูนันเตโช ผ่านพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มโครงการในวันที่ 5 ส.ค.นี้
 
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชา เปิดเผยว่า โครงการขุดคลองฟูนันเตโชนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 21-30% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของโครงการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานจำนวนมากให้กับคนในประเทศ ซึ่งในวันเดียวกันนี้ สำนักข่าว AFP ได้มีการเผยแพร่ภาพมุมสูง ที่คนงานใช้เครื่องจักรกลขุดร่องน้ำและเคลียร์พื้นที่ในเพระ ตาแก้ว (Prek Takeo) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขุดคลองฟูนัน เตโช ที่กัมพูชาจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มโครงการในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ณ เกาะเพชร (Koh Pich) พร้อมจัดงานคอนเสิร์ตและการแสดงพลุดอกไม้อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นการขุดอย่างเป็นทางการ
 
คลองฟูนันเตโช กับการก้าวมาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของกัมพูชา
 
โครงการคลองฟูนันเตโช เป็นโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทางการจีนเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้เส้นทางการคมนาคมทางน้ำจากท่าเรือกรุงพนมเปญไปจังหวัดแกบ และเชื่อมต่อไปยังอ่าวไทย โดยไม่ต้องอาศัยเส้นทางที่ต้องผ่านท่าเรือเส้นทางเวียดนามในบริเวณแม่น้ำโขง ที่กัมพูชาใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าเหมือนในปัจจุบัน โดยคลองนี้มีระยะทาง 180 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ลึกถึง 5.4 เมตร มีมูลค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61,000 ล้านบาท หากสร้างเสร็จ คลองนี้จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสายแรกของประเทศกัมพูชา มีอิสระในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศ สามารถลดรายจ่ายค่าธรรมเนียมการขนส่ง และด้วยความลึกของร่องน้ำ ทำให้สามารถรับน้ำหนักเรือได้สูงสุด 3,000 ตัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มเส้นทางเดินเรือสินค้าให้กัมพูชา รวมถึงยังเป็นการสร้างงานให้กับชาวกัมพูชาที่อาศัยริมคลองกว่า 5 ล้านคนอีกด้วย
 
ซึ่งแน่นอนว่าการมีเส้นทางเดินเรือใหม่ในอ่าวไทย ย่อมส่งผลกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดจีน เพราะการที่กัมพูชามีบทบาทมากขึ้นในอ่าวไทย ย่อมกระทบกับทั้งทางฝั่งของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามจะสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่จากที่ปัจจุบัน กัมพูชาใช้ท่าเรือเวียดนามขนส่งสินค้าเพื่อทำการค้าทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2011 ที่มีการขนส่งสินค้ากว่า  30 ล้านตัน อีกทั้งอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวขนาดใหญ่ที่ช่วยเหลือคนท้ายน้ำในเวียดนาม โดยการขุดคลองอาจไปเปลี่ยนทิศทางไหลของแม่น้ำโขง เป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ปลายน้ำกำลังเผชิญอยู่จากการสร้างเขื่อนในจีนและลาว ซึ่งทางกัมพูชาเองก็ไม่เคยส่งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แม้ว่าทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จะมีการส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ
 
ส่วนทางฝั่งประเทศไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากโครงการเช่นกัน เนื่องจากเส้นทางของคลองฟูนันเตโชที่ทำให้จังหวัดแกบของกัมพูชากลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการค้าสำคัญ ทางด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนว่าอาจดักเส้นทางเรือสินค้าให้ไม่ต้องมาแวะท่าเรือของไทย เช่น ท่าเรือคลองเตย และอาจกระทบต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย
 
นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ที่จีนได้สิทธิในการบริหารจัดการคลองนี้แลกกับการออกทุนให้ ซึ่งจีนจะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และเสี่ยงในประเด็นของการอาศัยคลองนี้เป็นเส้นทางเคลื่อนเรือรบเข้าประชิดพรมแดน เหมือนกับกรณีฐานทัพเรือเรียม ที่ทางการจีนลงทุน และได้ส่งเรือรบ 2 ลำเทียบท่าไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และประเด็นความไม่โปร่งใสที่ยังสร้างความกังวลให้กับชาวกัมพูชาที่อาศัยและมีพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแนวคลองโครงการ ที่จำเป็นต้องมีการเวนคืนพื้นที่ แต่ด้านรัฐบาลกัมพูชายังคงไม่ให้คำมั่นสัญญาเรื่องเงินชดเชย ว่าจะมีการเยียวยาอย่างไร ซึ่งแม้ประชาชนจะต้องการความชัดเจน แต่ก็ไม่กล้าต่อต้านรัฐบาล เพียงแค่คาดหวังว่าจะได้เงินชดเชยสมน้ำสมเนื้อในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ค. 2567 เวลา : 20:11:32
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:26 am