ข่าวประชาสัมพันธ์
ปลาหมอสีคางดำ "ปลาสวยงาม" หรือ "ปลารุกราน" บูรณาการกำจัดได้


ปลาหมอสีคางดำ หรือ ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ที่มีชื่อทางวิทยาศาตร์ ว่า Sarotherodon melanotheron การกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ขึ้นใช้ ก็เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือความสับสนกับชื่อพื้นเมืองและชื่อสามัญ เป็นหนึ่งในปลาต่างถิ่นรุกราน เรียกขานกันว่าเอเลี่ยน สปีชี่ส์ ที่ไทยห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2561 ปลาชนิดนี้ไข่ดกและไข่เร็ว ปลามีความอึดอยู่ได้ทั้ง 3 น้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม ตัวปลามีทั้งที่เป็นสีซีดและที่เป็นสีสันอื่นๆ เช่น สีฟ้าอ่อน สีส้ม และสีเหลืองทอง และปลาที่โตเต็มวัยจะมีแถบสีดำที่คาง ทำให้มีการนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ส่วนปลาไม่มีสีส่วนใหญ่ก็บริโภคหรือทำเป็นปลาป่น 

 
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสัตว์น้ำ บางท่านชี้ว่าไม่ว่าจะมีคำว่า "สี" หรือไม่มี มันคือปลาสายพันธุ์เดียวกันเพราะมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน แต่บางท่านก็เห็นแย้งว่าเป็นคนละสายพันธุ์ หากมีการค้นคว้าหาข้อมูลก็จะพบว่าปลาชนิดนี้ไม่ได้มีการเลี้ยงหรือแพร่ระบาดในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังพบในหลายประเทศที่ถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เพราะบางวงศ์มีสีสันสวยงาม ตามสายพันธุ์ที่่แตกออกไป (subspecies) แม้กระทั่งการนำไปเป็นเหยื่อปลาหรือเป็นอาหารเลี้ยงปลา ก็พบว่ามีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบเหล่านี้เช่นกัน และเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดแพร่ระบาดได้

 
เว็บไซด์ Fishbase ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลสายพันธุ์ปลาระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมมากที่สุด เคยรายงานเรื่อง Sarotherodon melanotheron ไว้เมื่อปี 2555 ว่า มีการพบปลาชนิดนี้ใน 22 ประเทศ ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะต่างด้วย พบมากในทวีปแอฟริกาและเป็นปลาพื้นถิ่นที่พบตามธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศที่ติดชายฝั่งทะเลทางตะวันตก  เช่น เบนิน แคเมอรูน คองโก แกมเบีย กานา กินี ไอวอรี่โคสต์ ไลบีเรีย มอริทาเนีย ไนจีเรีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โตโก ส่วนในเอเซีย พบที่กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการนำเข้ามา เช่นเดียวกับในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกาและหมู่เกาในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างรัฐฮาวาย และพบในทวีปอเมริกาใต้อย่างประเทศซูรินาม ล้วนเป็นการนำเข้าทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในทวีปเอเซียยังพบที่ญี่ปุ่นและในทวีปยุโรปที่รัสเซีย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีที่มาอย่างไร และมีบางประเทศที่นำเข้าปลามีการรายงานผลกระทบในระบบนิเวศวิทยา หลังจากนำเข้าปลาชนิดนี้และยังแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก (https://fishbase.se/Country/CountryList.php?ID=1412) 

 
สำหรับปลาหมอสีคางดำในประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อเรียกอย่างไม่ทางการว่า gloria หรือ tilapiang arroyo  ในรายงานนี้ยังระบุว่า ปลาชนิดนี้พบมากทางตอนใต้ของเกาะลูซอน รอบอ่าวมะนิลา รวมถึงในทะเลสาบน้ำเค็ม (Lagoon) และทะเลสาบน้ำจืด (Lake) ด้วย  อย่างไรก็ตาม ไม่พบประวัติว่าปลาหมอสีคางดำเข้าในแหล่งน้ำของประเทศนี้ได้อย่างไร แต่เชื่อกันว่าอาจจะเข้ามาช่วงประมาณต้นปี 2558 จากการแหล่งการค้าปลาสวยงาม (Aquarium Trade) และนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้กับจังหวัด บาตาล (Bataan) และ บูลากัน (Bulacan) ซึ่งปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์เร็วและเบียดเบียนและทำลายสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ (https://en.wikipedia.org/wiki/Blackchin_tilapia#Distribution)

 
นอกจากนี้ วิกีพีเดีย ยังมีข้อมูลการพบปลาหมอสีคางดำในสหรัฐอเมริกา ที่รัฐฟลอริด้า เป็นการนำเข้ามาและหลุดรอดมาจากแหล่งการค้าปลาสวยงาม โดยสงสัยว่าจะมีการปล่อยปลาโดยเจตนา และปลาชนิดนี้มีโอกาสทำให้เกิดปรากฏการณ์ fish biomass ได้สูงถึง 90% จากขยายพันธุ์เข้าไปยึดพื้นที่ของสัตว์น้ำชนิดอื่น ส่วนในรัฐฮาวาย เรียกปลาชนิดนี้ว่า salwater tilapia เพราะมันสามารถขยายพันธุ์ได้ในน้ำทะเลบริสุทธิ์และมีชีวิตรอดได้ ทั้งยังพบในทะเลสาบน้ำเค็มและอ่างเก็บน้ำ และปลานี้ได้ถูกกำจัดไปจำนวนมากเมื่อเกิดมีเชื้อราแพร่ระบาดในอ่างเก็บน้ำ 
 
 
 
เห็นได้ว่าปลาหมอสีคางดำเป็นปลาที่พบในหลายประเทศ ซึ่งต้นตอของปลาชนิดนี้พบมากในแอฟริกา และก็มีหลายประเทศที่นำเข้าปลาเหล่านี้ไปเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม จากแหล่งที่มาเดียวกันคือร้านค้าปลาสวยงาม จึงมีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะมีการส่งออกปลาชนิดนี้เป็นปลาสวยงาม (นำเข้าชัดเจนอยู่แล้วมีเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมาย) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในต่างประเทศตั้งข้อสงสัยไปในทิศทางเดียวกันว่าปลาหมอสีคางดำเหล่านี้หลุดรอด หรือ ลักลอบนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติจากแหล่งค้าปลาสวยงาม แต่ของไทยเทน้ำหนักเกือบทั้งหมดว่ามาจากการนำเข้าเพื่อการวิจัย เพื่อให้เกิดความโปรงใสจึงควรมีการหาบริษัทส่งออกปลาหมอสีคางดำ ที่มีการบันทึกไว้ให้ได้และนำมาสอบสวนว่าพันธุ์ปลาที่นำมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามท่านได้แต่ใดมา เพื่อหาทางยุติข้อโตแย้งของสังคมในขณะที่ 

ขณะนี้ ที่ต้องทำเร่งด่วน คือ การร่วมมือกันบูรณาการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ นอกจากการจับปลาให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว การป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่ใหม่ จับได้แล้วต้องกินหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ให้สูญเปล่า (waste) ไม่ว่าจะเพิ่มมูลค่าเป็นเมนูต่างๆ ทั้งปลาป่น หรือ ปุ๋ยชีวภาพ หรือทำลายตามหลักวิชาการ ทุกแนวทางต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องแผนบริหารจัดการหลังจากนื้ทั้งระยะกลางและระยะยาว เพื่อฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติให้ในน้ำมีปลา ปู กุ้ง หอย อย่างยั่งยืน./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ค. 2567 เวลา : 11:46:44
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 2:04 am