เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : รู้จักกับ "Blue Bond" สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับทะเล ที่ EXIM Bank นำร่อง-เสนอขายครั้งแรกในไทย


วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนทั่วโลก ต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไล่มาตั้งแต่การเริ่มจากในระดับบุคคล การรณรงค์ด้วย Movement ต่าง ๆ ในสังคม ไปจนถึงระดับเอกชนและภาครัฐ เช่น ทางฝั่งประเทศไทย ก็มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งด้วยภาคการรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่นี้เอง ทำให้เกิด Ecosystem ที่มีการผลิตเครื่องมือออกมาช่วยเหลือให้สังคมทุกภาคส่วน ดำเนินการไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ ที่มีการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจให้รักษาสิ่งแวดล้อมและเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Green Economy แต่การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวนี้ ก็ไม่อาจมองข้ามการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ที่เป็นอีกพาร์ทใหญ่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกไปได้
 
Blue Economy หรือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งทาง UNCTAD ประเมินค่า Blue Economy ของโลกอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างการจ้างงานมากถึง 820 ล้านคนในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง ในขณะเดียวกัน 80% ของปริมาณการค้าโลกก็เป็นการขนส่งทางทะเล ส่วนทางด้านประเทศไทย “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK กล่าวว่า ขนาดของเศรษฐกิจสีน้ำเงินในประเทศไทยตอนนี้มีขนาดใหญ่มาก โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลและที่เกี่ยวเนื่องมากถึง 5 ล้านล้านบาท หรือ 30% ของ GDP ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม และคิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม
 
 
ฉะนั้น นอกจากจะมีเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งบนผืนดิน ในภาคส่วนของ Green Economy แล้ว ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลด้วย เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาได้อย่างยั่งยืนโดยรวม ซึ่งทางรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในด้านการเงิน ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของภาคธุรกิจ ที่มุ่งส่งเสริมสร้างระบบนิเวศของภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยให้ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรตลอด Supply Chain ครอบคลุมเศรษฐกิจทางทะเลและชายฝั่ง อย่างการที่ EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเล หรือ Blue Bond ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยได้ออก Blue Bond สกุลบาท อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี
 
 
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้กล่าวถึงข้อดีของ การออก Blue Bond ในครั้งนี้ว่า “คนที่มีกำลังทรัพย์จะสร้างธุรกิจสีเขียวหรือสีน้ำเงินนั้น หากพูดตามความจริงต้องเป็นคนตัวใหญ่ ส่วนธุรกิจรายเล็ก ที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ทางทะเล แต่ไม่สามารถดำเนินกิจการไปพร้อมกับการรักษาระบบนิเวศได้ หรือทำให้ธุรกิจตัวเองเป็นสีน้ำเงินไม่ได้ ก็จะไม่มีที่ยืนในตลาดส่งออกเลย ฉะนั้นการออก Blue Bond ที่ระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อของธนาคารให้แก่ธุรกิจที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง นับเป็นการสร้าง Incentive ให้เขาเป็นคนที่มีที่ยืนในเวทีโลกได้ ด้วยเรทอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.85% เป็นเรทเกือบเทียบเท่า Soft loan เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจ ทำตัวเองให้สะอาด เพื่อนำมาซึ่งต้นทุนทางธุรกิจที่ถูกลง หรือต่ำกว่าเรทปกติเกือบบาทหนึ่ง”
 
 
EXIM BANK นับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่จัดตั้งกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน และออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 นอกจากนี้ยังมีแผนจะระดมทุนภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ที่เชื่อมโยงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวม 11,500 ล้านบาท โดย Blue Bond ที่ EXIM BANK เสนอขายครั้งนี้ ADB เป็นที่ปรึกษาการจัดทำ และได้การรับรองจาก DNV (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จาก Fitch Ratings สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคงของ EXIM BANK โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่จนสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนวงเงิน มียอดจองซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย หรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท  ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี เป็นต้น
 
ทิศทางอนาคตของ Blue Bond จะเป็นอย่างไร?
 
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2561-2565 ตลาด Blue Bond มีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่า Green Bond ในช่วงปีเดียวกัน แต่อาจเรียกได้ว่า Blue Bond กำลังอยู่ในสถานะคล้ายกับ Green bonds เมื่อ 15 ปีที่แล้ว อีกทั้งด้วยพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกประกอบไปด้วยพื้นที่ทางทะเล ทำให้ขนาดเศรษฐกิจสีฟ้านั้นจะมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 แสดงถึงโอกาสอีกมากสำหรับการเติบโตของ Blue Bond ในตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ค. 2567 เวลา : 18:07:45
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:32 am