แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และการบรรยายพิเศษ” และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ณ ห้อง 211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า “มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรม Wellness Economy ของโลกลดลงในช่วง COVID-19 แต่หากมองภาพในระยะยาวปี 2020-2025 จะพบว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปีจะเติบโตสูงถึงประมาณ 10% และเมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) พบว่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21% และจากการสำรวจของ Medical Tourism Index 2020-2021 ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 17 จาก 46 ประเทศ ซึ่งประเทศมีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ หากผสมผสานความเป็นไทย (Thainess) ที่มีจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและประชาชนที่เป็นมิตร สามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มาเยือนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้
“การออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของเทรนด์การนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งเป็น
2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการไม่ว่าจะเป็น การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึง การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) และ 2) กลุ่มผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น”ดร.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม
ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า “แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ สมาคมสปาไทย และสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งผลความสำเร็จในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHA Well Hotel 1 แห่ง และผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย GBAC Star 9 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ได้วางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ผ่านการสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมทางด้าน Supply และส่งเสริมการตลาดในกลุ่ม Wellness, Rehab & Retreat, Longstay และ Tourism for All เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจบริการอื่นๆได้”
“แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ การออกแบบแผนงานทางด้านตลาด ในกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อคนมั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในปี 2570 ผลตอบแทนจากการลงทุน Return on Investment หรือ ROI ต้องขยับได้ 3.5 เท่า หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท และในอนาคต ปี 2567-2570 กลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็น Key หลักในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Net Zero Pathway และเชื่อมกับมาตรฐานสากลต่อไป สำหรับด้านของการตลาดเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยมีนักวิชาการ คณะนักวิจัยกลุ่มท่องเที่ยว บพข.หนุนเสริม ทั้งด้านของ Market Foresight และการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Supply ในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power ต่อไป” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” เป็นเวทีที่รวมพลังนักวิชาการด้านสุขภาพแถวหน้าของเมืองไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ประกอบด้วย ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผอ.ชุดแผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง บพข. รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการการพัฒนาการตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันและพื้นที่เชื่อมโยงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ หัวหน้าโครงการการยกระดับและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก คุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ ผู้ประกอบการนำเที่ยวบริษัท Nutty's Adventures พร้อมด้วย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย โดยมี ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา เผยว่า “การผลักดัน Wellness Tourism ประเทศไทยให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาต่อยอด ทั้งด้านของการพัฒนาด้านคุณภาพ มีการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นความเป็นไทย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ”
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ในเวทีแห่งนี้เราทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ การท่องเที่ยวคุณค่าสูง ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงต่อไป นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ผลงานที่ทำ ณ ขณะนี้การต่อยอดจากฐานงานเดิมในปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในด้านต่างๆ ในพื้นที่อันดามัน ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ทำคนดีให้ไม่ป่วย 2) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทำให้คนป่วยหายดี และ 3) การท่องเที่ยวเชิงบําบัดสุขภาพ และ (Rehabilitation Tourism) เพิ่มพลังให้แข็งแรง
“ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างมากทั้งคุณภาพด้านการดูแลรักษา พร้อมกับศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว พบว่ามูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ มีมูลค่า 34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 218 ทั่วโลก และได้อันดับ 9 จาก 45 ประเทศในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีปัจจัยด้านบวกอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ค่ารักษาที่ไม่สูง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย นวดไทยตามวิถีถิ่น แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเรามี SOFT POWER ของไทยที่เป็นทุนที่แข็งแรงของเรา เป็นต้น” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวเสริม
ด้าน ดร.เกษวดี กล่าวว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เราได้นำผลงานวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งเป็น Stock of Knowledge นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ (Research Utilization) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูให้เข้าถึงตรงใจนักท่องเที่ยวในหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ ITE Hong Kong 2024 และงาน Road Show ในหลายประเทศ โดยได้รับร่วมมือและการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งทุกครั้งได้รับการตอบรับอย่างดีเป็นที่พึงพอใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ฯ เข้าสู่ตลาดผ่าน BNI ซึ่งเป็น B2B Platform และไม่นานเกินรอ เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ฯ นี้ ที่งาน Travel Show ในเกาหลีใต้ และ ITB ASIA ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวระดับโลก
ด้านของ ชวนัสถ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย เผยว่า ตลาดสุขภาพที่เฟื่องฟู คือ การที่ผู้บริโภคมุ่งที่จะใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อปรับปรุงสุขภาพ สมรรถภาพทางกาย โภชนาการ รูปร่างหน้าตา การนอนหลับ และการ เจริญสติ เช่น กำหนดลมหายใจ การนั่งสมาธิ และการเดินสมาธิ เป็นต้น
ขณะที่นายนิธิ จาก บริษัท Nutty's Adventures เผยว่า Tourism For All - All For Tourism การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คือ การสร้างทุกโอกาสเพื่อคนทุกคนได้เดินทางท่องเที่ยว ต้องสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับ รพ.ศิริราช เพื่อดูว่าโปรแกรมที่โรงพยาบาลมี สามารถที่จะต่อยอดเป็นแพ็คเก็จการท่องเที่ยวอย่างไร และมองว่าทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการได้รับการต้อนรับที่ดีกลับไป นี่คือสิ่งสำคัญ ในอนาคตอันใกล้เราจะมีการจัด FAM Trip เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวทั้งเพื่อคนทั้งมวลอย่างดีที่สุดต่อไป
ในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากลนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562-2567 แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีนักวิจัยกว่า 85 คนจากกว่า 20 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ให้ดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริงในงาน Trade Show และ Road Show ต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงตลาดในระดับสากล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้คณะนักวิจัยจาก บพข.นำโดยผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จะมีภารกิจนำผลงานวิจัยทางด้านสปาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปนำเสนอในงาน South by Southwest (SXSW) 2024 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งงานสำคัญที่เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยสู่ระดับสากลต่อไป
ข่าวเด่น