ซีเอสอาร์-เอชอาร์
PQS และเครือข่าย PQS ธนาคารต้นไม้ เดินหน้าปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ดันโครงการ PQS Eco Park สร้างความยั่งยืนระบบนิเวศน์ แก้ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำ


พรีเมียร์ควอลิตี้ สตาร์ช ร่วมกับเกษตรกร ชุมชน และพันธมิตร ดันโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หรือธนาคารต้นไม้ เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน รอบๆ โรงงาน จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้โครงการ PQS Eco Park นำร่องพื้นที่ 250 ไร่ หวังเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูป่า อนุรักษ์ดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง สร้างความยั่งยืนแหล่งวัตถุดิบและความแข็งแกร่งให้กับชุมชน เป้าหมายระยะยาวเพื่อให้เป็น Super Market  เป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติ ของชุมชน

 
นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS  เปิดเผยถึงโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หนึ่งใน จิ๊กซอว์ของ PQS Eco Park  ว่า เนื่องจากบริษัท ตระหนักในการมีส่วนร่วมกับ ประชาคมโลกในทุกภาคส่วน ในภาระกิจลดโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สู่จุด ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2573 โดยหลากหลายวิธีการ ที่สำคัญคือการดูดกลับคืนมา ด้วยโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หรือธนาคารต้นไม้ 

“เราทำธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ และแป้งดัดแปร เราได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อคุณภาพ และผลผลิตแป้งมันสำประหลังที่เรารับซื้ออย่างมาก คณะกรรมการบริษัท  และทีมบริหารจึงได้หาวิธีการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวัตถุดิบ ต้องหาวิธีการอนุรักษ์ดิน เพื่อเพิ่มผลิตการปลูกมัน  เพราะถ้าปล่อยไปนานๆ ผลผลิตก็จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เรามีโอกาสได้ ไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของคุณปรีดา หงอกสีมา เจ้าของ  “วรรณพรรณ ฟาร์ม” จังหวัดขอนแก่น ไร่เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งทำให้ได้แนวความคิดในการอนุรักษ์ดิน และเดินหน้าปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน”นายรัฐวิรุฬห์กล่าว
 
โครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หรือโครงการธนาคารต้นไม้ เป็นโครงการที่ PQS ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย หลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อดักจับคาร์บอน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และเพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน รอบๆ โรงงาน เพื่อให้ PQS Eco Park เป็น Super Market ของชุมชนให้ได้

 
สำหรับโครงการ PQS Eco Park ตั้งอยู่บนที่ดินพื้นที่ 250 ไร่ใกล้โรงงานของบริษัทที่จังหวัดมุกดาหาร โดยบริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์ของโครงการให้ครบทุกมิติของ ESG หรือการพัฒนาบริษัทหรือองค์กรตามหลักความยั่งยืน ( Sustainability) มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นโครงการนำร่องหรือตัวอย่างให้กับคนทั่วไป ซึ่งในโครงการดังกล่าว จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น ส่วนๆ ประกอบด้วย ส่วนงานวิจัยและพัฒนามันสำปะหลังเพื่อผลผลิตยั่งยืนแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาด

ต่อมาจะเป็นโซนปลูกป่าเพื่อให้เป็นป่านิเวศน์ช่วยกักเก็บความชุ่มชื่นให้พื้นดิน เพิ่มสิ่งมีชีวิตให้พื้นป่าเพื่อให้ตอบสนองต่อการบำรุงดิน และเป็นแหล่งสร้างอาหารให้ชุมชน พวกพรรณไม้ต่างๆ นอกจากนี้จะทำเป็นจุดฝึกอบรวม  รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลภายนอกที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและสุดท้ายต้องการให้เป็นตลาดนัดชุมชนที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนของชุมชนด้วย 
 
โครงการธนาคารต้นไม้ของ PQS เป็นโครงการเรือธงของ PQS ในการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่ทางธุรกิจ โดยบริษัทมุ่งมั่นในการให้การ สนับสนุนการปลูกต้นไม้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร ชุมชน และพนักงาน เพื่อเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชุมชน ที่เข้าร่วม ด้วยการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต 

“เรามองเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเป็นเครือข่ายต่อยอดต่อไป เพราะการปลูกป่าถ้าเกิดขึ้นในใจคนก็จะเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูป่า เราวางแผนที่จะขยายไปใน 3 จังหวัด กาฬสินธุ์ สกลนคร และมุกดาหาร เพื่อให้เป็นคัสเตอร์ธนาคารต้นไม้และให้เป็นจุดเริ่มต้นในการรับมือกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวน ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ชุมชน เกษตรกรในระดับอนุภาคของสังคม”นายรัฐวิรุฬห์กล่าว

ขณะที่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหาร พนักงาน PQS และเกษตรกรในชุมชน ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน 2,867 ต้น ในโครงการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สีเขียว สร้างแหล่งอาหารชุมชน ช่วยลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธนาคารต้นไม้ ณ แปลงสาธิต PQS Eco Park
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ก.ค. 2567 เวลา : 16:58:48
19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 5:21 am