SME D Bank คว้า 96.47 คะแนน ระดับ “ผ่านดี” ผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2567 จาก ป.ป.ช. เพิ่มขึ้น 4.51 จากปีที่ผ่านมา ผลจากความเป็นเลิศ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้ 100 คะแนนเต็ม พร้อมมุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สมภาคภูมิแห่งการเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือ ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ที่ 96.47 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ประเมินระดับ “ผ่านดี” ปรับเพิ่มขึ้น 4.51 จาก ปีงบ ประมาณ พ.ศ.2566 อยู่ที่ 91.96 คะแนน โดยเป็นผลมาจากความเป็นเลิศ ด้านตัวชี้วัด การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ที่ได้รับ 100 คะแนนเต็ม บ่งบอกถึงการดำเนินงานที่มีคุณธรรม มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการในระยะยาว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่น คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ธนาคารยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจของชาว SME D Bank ตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันประกาศเจตจำนงสุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานที่ทำธุรกรรมกับธนาคารได้ทราบ และยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกัน และที่สำคัญ มุ่งมั่นบทบาทการเป็น “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” ช่วยเหลือ และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการ "พัฒนา เติมทุน ยั่งยืน" กล่าวคือ “ด้านการพัฒนา" เชื่อมโยงหน่วยงานผนึกกำลังพันธมิตร ภาครัฐ เอกชน ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบวงจรให้ปรับตัวก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึง มีแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank อำนวยความสะดวกครบถ้วนในจุดเดียว นำเทคโนโลยีมาตอบความต้องการผู้ประกอบการไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชม.
“ด้านการเงิน” SME D Bank มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี และเปิดกว้างทุกกลุ่มธุรกิจ สร้างโอกาสนำไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุง เสริมสภาพคล่อง และหมุนเวียน รวมถึง อัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “ด้านความยั่งยืน” นำแนวทางเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) มาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เช่น ช่วยลดต้นทุน สร้างมาตรฐาน เป็นต้น สอดรับแนวทาง ESG (Environment : ดูแลสิ่งแวดล้อม, Social : ความรับผิดชอบต่อสังคม และ Governance : การกำกับดูแลกิจการที่ดี) ช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ข่าวเด่น