นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะองค์กรตรวจสอบภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) ของคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคดิจิทัล จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เสนอคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พิจารณาให้ความเห็นชอบและได้มีการประกาศ เรื่อง “กรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เรียบร้อยแล้ว และต่อมาได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยรับตรวจ รวมจำนวน 16 หน่วยงาน (ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานในสังกัด รวม 10 หน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) โดยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพืื่อเป็นการนำร่องวิธีการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งปัจจุบัน สตง. ได้มีการประสานงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยรับตรวจดังกล่าว โดยเฉพาะการรับ – ส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุด สตง. ได้เดินหน้าสร้างเครือข่ายการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมตามกรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง สตง. กับหน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม รวมจำนวน 5 แห่ง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนี้
1. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย
2. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
3. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ เทศบาลเมืองแสนสุข
4. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์
5. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ เทศบาลเมืองแม่เหียะ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กล่าวว่า กบข. มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับการบริหารราชการด้วยระบบดิจิทัล จึงได้มีข้อตกลงความร่วมมือในการประสานและร่วมดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้กระบวนการตรวจสอบผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับ–ส่งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานประกอบการตรวจสอบ รวมถึงขอบเขต และเงื่อนไขในการปฏิบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามกรอบแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง กรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประกาศ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกท.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติราชการผ่านระบบดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งจะช่วยให้การรับส่งหนังสือ รายงาน ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของทั้งสองหน่วยงานมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการร่วมสนับสนุนงานตรวจเงินแผ่นดินในยุคดิจิทัล
นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาล แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประสานความร่วมมือระหว่างเทศบาล และ สตง. ในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานและการดำเนินงานในการตรวจสอบด้านการเงินของเทศบาล อีกทั้งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทันสมัย มีการดำเนินงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการและการพัฒนาประเทศในภาพรวมต่อไป นายสมชาย กล่าว
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ได้ดำเนินการสนับสนุนนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบในรูปแบบเดิมให้รองรับระบบดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม เพื่อลดภาระและสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานรัฐผู้รับตรวจในการเตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบของ สตง. ซึ่งผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง กรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Audit) ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ DGA ขอแสดงความยินดีกับ 5 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU ในครั้งนี้ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการมีส่วนร่วมและความมุ่งหมายเดียวกันตามนโยบายของรัฐบาลในการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ สร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาลภาครัฐ โดย DGA หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ข่าวเด่น