การค้า-อุตสาหกรรม
ส่งออกปลา โดยไม่รู้ที่มา? ปัญหาที่ถูกมองข้าม


 
ปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยง แต่กลับมีการส่งออกได้ กลายเป็นคำถามว่า เรื่องนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมีมาตรการควบคุมดูแลกำกับอย่างเข้มงวดหรือไม่ และถ้าไม่มีกรณี “ปลาหมอคางดำ” ประเด็นนี้ก็คงไม่ได้รับความสนใจ 

เมื่อดู พรบ.ประมง ปี 2558 ที่กำหนดให้ “ต้องมีการระบุแหล่งที่มาของการส่งออก” แต่ทั้ง 11 บริษัท ผู้ส่งออกปลากลับไม่ได้บอกว่า ปลาที่ส่งออกไปนั้นมีที่มาอย่างไร ทั้งที่เป็นปลาต่างถิ่น แล้วถูกนำมาเพาะเลี้ยงได้อย่างไร ที่สำคัญยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องจากกรมประมงมาเพื่อเพาะเลี้ยง 

กระทั่งต่อมาในปี 2561 จึงมีประกาศ ห้ามเพาะเลี้ยง นำเข้า ส่งออก แล้วบริษัทผู้ส่งออก มีการทำลายปลาเหล่านั้นอย่างไร และได้นำส่งปลาแก่หน่วยงานรัฐหรือไม่ แล้วจะมั่นใจการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้นได้อย่างไร? 

ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ เรื่องนี้กลับไม่ได้รับความสนใจ จาก NGO ที่พยายามหาต้นตอของปัญหา เพราะปักหมุดเป้าหมายไปที่ผู้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยไม่มองความเป็นไปได้อื่น และยังยอมรับเหตุผลว่า การส่งออกของ 11 บริษัท เป็นปลาชนิดอื่น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกข้อมูลชื่อปลาผิดมาตลอด 4 ปี ในทุกรอบการผิด โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องใดๆ เลย

แม้แต่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ก็ยังสงสัยในเรื่องนี้ เพราะในขณะนั้น ไม่มีชื่อเรียก ปลาหมอคางดำ กรมประมงแนะนำให้ใช้ชื่อ ปลาหมอเทศข้างลาย ซึ่งตรงกับชื่อส่งออกที่ระบุ เป็นปลาหมอเทศข้างลาย เช่นกัน 

เรื่องนี้บริษัทผู่ส่งออกกลับให้คำตอบว่า เป็นการส่งออก ปลาหมอสีมาลาวี หมายความว่า การกรอกชื่อว่า ปลาหมอเทศข้างลาย มีโอกาสเป็นปลาชนิดใดก็ได้ ที่มีลักษณะคล้ายๆ ปลาหมอ หรือปลาหมอเทศ แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ปลาที่ส่งออกไม่ใช่ปลาหมอคางดำจริงๆ ตราบใดที่ยังไม่มีการตรวจสอบย้อนกลับต้นทางได้ หรือติดตามไปถึงประเทศปลายทาง 

นอกจากเรื่องปลาหมอคางดำแล้ว ไทยเรายังมีปัญหาการรุกรานของปลาต่างถิ่นอื่นๆ เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ชื่อสามัญ Zebra tilapia ชื่อวิทยาศาตร์ Heterotilapia buttikoferi มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ที่พบการแพร่กระจายพันธุ์ในเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ปลาชนิดนี้มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย กินได้ทุกอย่าง ทั้งไข่ปลา และลูกปลาชนิดอื่น ทำให้พันธุ์ปลาดั้งเดิมลดน้อยลง และเข้าไปแทนที่ปลาถิ่นบางชนิด อย่างเช่น ปลาแรด ดังนั้นปลาชนิดนี้ก็ถือเป็นอีกภัยรุกราน ที่ยังไม่มี NGO รายใด เข้ามาทำงานหาต้นตอ จากการสอบถามชาวประมงในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า อาจมีผู้ประกอบการหรือมีนายทุนบางราย นำเข้าปลานี้ แล้วเอามาให้เกษตรกรเลี้ยงในกระชัง แล้วจะรับซื้อกลับ ไปขาย “เป็นปลาสวยงาม” ซึ่งในระหว่างการเลี้ยงอาจมีปลาหลุดออกจากกระชังไปสู่แหล่งน้ำ แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป็นสัตว์น้ำห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง มาตั้งแต่ปี 2561 โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทุกวันนี้ปริมาณก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่น มาเพาะเลี้ยงแบบผิดกฎหมายมีอยู่จริง และหาต้นตอได้ยาก เพราะไม่มีรายงานข้อมูลการขออนุญาตนำเข้าเหมือนกับปลาหมอคางดำ 

และยังมีปลาอีกชนิด คือ “ปลาหมอมายัน" (Mayan cichlid) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Mayaheros urophthalmus มีถิ่นกำเนิดในเขตพื้นที่น่านน้ำแอตแลนติกตอนกลางของเม็กซิโด เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว ที่เติบโตได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย กินลูกปลาและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยดุร้ายและหวงถิ่น โดยมีชาวประมงจับได้ในแหล่งน้ำสาธารณะไม่ต่างจากปลาหมอคางดำ 

ยิ่งตอกย้ำว่า การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นมีอยู่ แต่ระบบการควบคุมของภาครัฐไม่เข้มแข็งพอที่จะป้องกันได้ และยังขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด มิฉะนั้น คงไม่ปล่อยให้ปลาห้ามเพาะเลี้ยงมีการส่งออก ดังที่ผ่านมา

ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องเริ่มจากดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น แล้วจึงแก้ไข ที่สำคัญต้องวางระบบการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น และตรวจติดตามการส่งออกสัตว์น้ำ ทำตาม พรบ.ประมง ที่ต้องระบุแหล่งที่มาการส่งออกให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต…

โดย สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ก.ค. 2567 เวลา : 21:24:08
19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 4:44 am