เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 2/2024 ขยายตัว 5.0%YoY ต่ำกว่าไตรมาส 1/2024 เล็กน้อยที่ขยายตัว 5.1%YoY เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มสิ้นสุดลงส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตช้าลงเหลือ 1.4%YoY จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวสูงถึง 19.9%YoY ขณะที่การบริโภคยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 4.3%YoY สะท้อนกำลังซื้อในประเทศยังแข็งแกร่ง ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาเร่งตัวที่ 8.3%YoY (จาก 0.5%YoY) (รูปที่ 1)
รูปที่ 1: เศรษฐกิจของอินโดนีเซียไตรมาส 2/2024 ขยายตัว 5.0%YoY
ที่มา: BPS-Statistics Indonesia, โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้นเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2024 (รูปที่ 2) เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้าขยายตัวสูงขึ้นที่ 7.7%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า แต่ผลของฐานจะเริ่มหมดไปในช่วงครึ่งปีหลังบวกกับผลจากมาตรการจำกัดการส่งออกแร่ดิบจะยังฉุดการส่งออกอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2) การส่งออกบริการขยายตัวสูงต่อเนื่อง 14.2%YoY และน่าจะส่งผลบวกตลอดทั้งปี แต่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างจำกัดเนื่องจากมีสัดส่วนเพียง 2% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2/2024 มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.3%YoY อย่างไรก็ตาม คาดว่าการทยอยฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2024 จะยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าก่อน COVID-19
รูปที่ 2: เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 2/2024 ได้แรงหนุนจากการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก
การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบ่งตามการใช้จ่าย (%YoY)
ที่มา: BPS-Statistics Indonesia, โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- การบริโภคภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตอย่างจำกัดในไตรมาส 2/2024 (รูปที่ 2) เนื่องจากหมดช่วงเทศกาลรอมฎอนและสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคในการใช้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพตั้งแต่ไตรมาส 1/2024 โดยมีเพียงการแจกข้าวสารให้แก่ครัวเรือนที่เพิ่งสิ้นสุดในไตรมาส 2/2024 อย่างไรก็ดี การบริโภคที่ยังเติบโตในไตรมาส 2/2024 ได้แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.13% ในเดือน ก.ค. 2024
• เศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.0% เท่ากับคาดการณ์ของ Consensus โดยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังรักษาระดับการเติบโตได้เท่ากับครึ่งปีแรก
- มาตรการภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญ ทั้งแผนลดหย่อนภาษีพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่เมืองหลวงแห่งใหม่ที่นูซันตารา เกาะกาลิมันตัน โดยครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็น และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4/2024 โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจพิจารณาลดดอกเบี้ย หากธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. 2024 ที่จะถึงนี้
- อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยจากฐานที่สูงในช่วงครึ่งปีหลังและเศรษฐกิจคู่ค้าหลักโดยเฉพาะจีนที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง
- ติดตามนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายปราโบโว ซูเบียนโต ในเดือน ต.ค. 2024 ที่น่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีถัดไป
ข่าวเด่น