ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสูงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบัน 80% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม และเมื่อศึกษาบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็น “ธุรกิจครอบครัว” (family business) จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 852 บริษัท พบว่า
• 575 บริษัท จาก 852 บริษัท หรือ 67% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ทำการศึกษา จัดเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ซึ่งบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมคิดเป็น 50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด
• บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวกระจายตัวในเกือบทุกหมวดธุรกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ และในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (กลุ่มบริการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม)
• ธุรกิจครอบครัวใช้กลไกตลาดหุ้นไทยในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า 76% ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าซื้อขายในช่วงปี 2559 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เป็นธุรกิจครอบครัว
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2566) มีบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจำนวน 188 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนที่ทำ IPO ทั้งหมด 248 บริษัท
ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าระดมทุนรวมสูงกว่า 344,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61% ของมูลค่า IPO ทั้งหมด
บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวกลุ่มนี้ระดมทุนเพิ่มเติมผ่านการระดมทุนในตลาดรอง โดย 71 บริษัท ระดมทุนเพิ่มเติมในตลาดรอง 329 ครั้ง มีมูลค่าระดมทุนรวม 70,187 ล้านบาท
• บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยพบว่า ในปี 2566 บริษัทกลุ่มนี้มีรายได้รวมสูงถึง 8.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 46.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้จ่ายภาษีนิติบุคคลรวมสูงกว่า 106,287 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.1% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปี 2566
• บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศ โดยในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว 561 บริษัท มีการจ้างพนักงานรวมสูงถึง 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่มีการจ้างพนักงานในสัดส่วนที่มากกว่า 75% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
Disclaimers:
ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ความเห็นที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"?????" (fù bù guò s?n dài) หรือ “ความมั่งคั่งไม่เกิน 3 รุ่น” เป็นสำนวนสุภาษิตจีนที่สะท้อนความเชื่อของชาวจีนเพื่อเตือนใจสมาชิกครอบครัวว่า ทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นในรุ่นแรกของครอบครัวนั้น มักจะไม่สามารถคงอยู่หรือเจริญรุ่งเรืองได้เกินรุ่นที่สาม เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความสูญเสียในทรัพย์สินของครอบครัว อาทิ ประสิทธิภาพในการบริหารทรัพย์สินลดลง ความขัดแย้งภายในครอบครัว หรือการสูญเสียค่านิยมหรือความสามัคคีของสมาชิกของครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทุกธุรกิจครอบครัวในการรักษาและสืบทอดความมั่งคั่งและทรัพย์สินของตระกูลให้สามารถคงอยู่ในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Professor John A. Davis ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว (family enterprise portfolio programs) ที่ MIT Sloan School of Management และเป็นผู้ที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นปรมาจารย์ในด้านธุรกิจครอบครัวและความมั่งคั่งของครอบครัว ที่เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งใหม่ในสหรัฐอเมริกามีอายุดำเนินกิจการค่อนข้างสั้น บริษัทหรือธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 50% จะยุบกิจการภายใน 5 ปีแรก ขณะที่อีก 15% จะอยู่รอดถึง 10 ปี และจะเหลือเพียง 16% เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดและดำเนินกิจการต่อเนื่องจากในชั่วหนึ่งอายุคน และในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า สำหรับบริษัทที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจะมีอายุยืนยาวกว่าบริษัทที่ไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัว โดยบริษัทที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจะมีอายุยาวกว่าประมาณ 2 เท่า
สำหรับประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยในงานเปิดโครงการ Family Business Thailand เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาว่า ในปัจจุบัน 80% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย พบว่า ธุรกิจครอบครัวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เริ่มต้นรุ่นแรก หรือ Generation 1 ที่เริ่มทำธุรกิจขนาดกลางและเล็ก บางบริษัทเริ่มประกอบธุรกิจจากร้านขายเมล็ดพันธ์พืชผัก บางบริษัทเริ่มต้นจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่นำเข้าจากต่างประเทศ บางบริษัทเริ่มต้นโรงเหล้าโรงเบียร์ บางบริษัทเริ่มร้านวัสดุก่อสร้าง บางบริษัทเริ่มต้นจากร้านขายยา เป็นต้น และมีการก่อร่างสร้างตัวขยายธุรกิจจากเงินทุนส่วนตัว เงินทุนสมาชิกครอบครัวหรือเครือญาติ และสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และใช้กลไกการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยเพื่อขยายกิจการขนานใหญ่และมีการส่งต่อกิจการมายังรุ่นถัดๆ มา (รุ่น 2 - 3 - 4 ตามลำดับ) ขณะที่มีข้อสังเกตว่า ธุรกิจครอบครัวที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงหลังๆ ที่เป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมาไม่นาน ดำเนินการโดยรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในธุรกิจใหม่ๆ และมีลักษณะกลุ่มเพื่อน เพื่อนร่วมงาน มากกว่า 2 ตระกูล ที่จับมือกันทำธุรกิจ
67% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด คิดเป็น 50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด (total market capitalization) โดยกระจายตัวในทั้ง SET และ mai และในเกือบทุกหมวดธุรกิจ
ในการศึกษานี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) จากข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทที่มีการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 จำนวน 852 บริษัท ซึ่งพบว่า 575 บริษัท หรือ 67% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยจัดเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ตามคำนิยามธุรกิจครอบครัวในการศึกษานี้ (ภาพที่ 1) โดยบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมสูงถึง 50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (total market capitalization)
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว ส่วนใหญ่จดทะเบียนซื้อขายใน SET และมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และมีส่วนสำคัญในการเป็นองค์ประกอบดัชนีต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากคำนิยามของธุรกิจครอบครัวที่พิจารณาทั้งในกรณีที่สมาชิกของครอบครัวมีการถือครองหุ้น (Family Member) และในกรณีที่สมาชิกครอบครัวถือครองหุ้นผ่านบริษัทหรือนิติบุคคลในรูปแบบต่างๆ อาทิ ห้างหุ้นส่วน บริษัท บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นต้น (Family Firm) พบว่า 438 บริษัท หรือ 76% ถือเป็นธุรกิจครอบครัวแบบ Family Member และอีก 137 บริษัท หรือ 24% ถือเป็นธุรกิจครอบครัวแบบ Family Firm ตามตารางที่ 1 และพบว่า 72% ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวทั้งหมดเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายใน SET และอีก 28% เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายใน mai ตามตารางที่ 2
และหากพิจารณาตามรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีต่างๆ ตามตารางที่ 3 และตารางที่ 4 พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวอยู่ในทุกดัชนี และจำนวนบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของทุกดัชนี
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวกระจายตัวอยู่ในเกือบทุกหมวดธุรกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ และในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (กลุ่มบริการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม)
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่พัฒนามาจากธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลหรือเป็นธุรกิจจัดตั้งใหม่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจและกระจายตัวอยู่ในเกือบทุกหมวดธุรกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์ และในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (กลุ่มบริการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ตามตารางที่ 5
และพบว่าบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเหล่านี้กระจายตัวในเกือบทุกหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ และใน mai
(โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม) ที่มีจำนวนบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก
หากพิจารณาสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวต่อจำนวนบริษัทจดทะเบียนในแต่ละหมวดธุรกิจ พบว่า มีหลายหมวดธุรกิจที่มีสัดส่วนของจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมากกว่า 80% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในหมวดธุรกิจนั้นๆ ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดวัสดุก่อสร้าง หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดธุรกิจการเกษตร กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค mai
ธุรกิจครอบครัวใช้กลไกตลาดหุ้นไทยในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า 76% ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าซื้อขายในช่วงปี 2559 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เป็นธุรกิจครอบครัว
จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว พบว่า ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2566) ตามภาพที่ 2 พบว่า ณ สิ้นปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว 563 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 8.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 49.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด (total market Capitalization) โดยเมื่อพิจารณาการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในช่วงปี 2560 - 2566 ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว พบว่า มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate) ปีละ 3.8%
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัว จำนวน 575 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมอยู่ที่ 7.9 ล้านล้านบาท ลดลง 8.9% จากสิ้นปี 2566 ที่สำคัญจากการลดลงของราคาหลักทรัพย์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว SET Index ปรับตัวลดลง 8.1% และหากพิจารณาขนาดของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเปรียบเทียบกับตลาด โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด พบว่า มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 50.2%
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย 188 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนครั้งแรกรวมกว่า 344,459 ล้านบาท คิดเป็น 61% ของมูลค่าระดมทุนทั้งหมดในตลาด กล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวอาศัยกลไกจากการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ
เมื่อพิจารณากิจกรรมการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 - 2566) ตามตารางที่ 6 พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO ในตลาดหุ้นไทยรวมทั้งหมด 248 บริษัท โดย 188 บริษัท จากทั้งหมด 248 บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัว หรือ 76% ของบริษัทที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO เป็นธุรกิจครอบครัว หรือ กล่าวอีกทางหนึ่งได้ว่า ธุรกิจครอบครัวอาศัยกลไกจากการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ
เมื่อพิจารณามูลค่าการระดมทุนหรือ มูลค่า IPO ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าระดมทุนรวมสูงกว่า 344,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61% ของมูลค่า IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีทิศทางเดียวกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ณ วันซื้อขายวันแรกที่มีมูลค่ารวม 1.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 62% ของ Market Cap รวมของบริษัทที่ IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจครอบครัวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดย พบว่าในช่วงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO จำนวน 15 บริษัท และพบว่า 12 บริษัทใน 15 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนบริษัทที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO มีมูลค่าระดมทุนรวม 6,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74% ของมูลค่า IPO ทั้งหมด ส่งผลให้ตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา คือ ในช่วงปี 2559 - มิถุนายน 2567 มีธุรกิจครอบครัวเข้าระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO รวม 200 บริษัท จากทั้งหมด 263 บริษัท หรือคิดเป็น 76% ของบริษัททจดทะเบียนทั้งหมดที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO โดยบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มีมูลค่าระดมทุนรวม 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61% ของมูลค่า IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว
หลังจากจดทะเบียนระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2559 - 2566 แล้ว ยังพบว่าในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนกลุ่มดังกล่าวได้ระดมทุนเพิ่มเติมผ่านตลาดรอง โดยพบว่า 71 บริษัททำการระดมทุนผ่านตลาดรอง 329 ครั้ง มีมูลค่าระดมทุนในตลาดรองรวมกว่า 70,000 ล้านบาท
จากที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจะระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้ว จากการศึกษานี้ยังพบว่าบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2559 - 2566 ยังอาศัยกลไกการระดมทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติมผ่านการระดมทุนในตลาดรอง โดย 71 บริษัท (จากทั้งหมด 188 บริษัท) ระดมทุนเพิ่มเติมในตลาดรอง 329 ครั้ง มีมูลค่าระดมทุนรวม 70,187 ล้านบาท (ภาพที่ 3) ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ สิ้นวันซื้อขายวันแรกรวมกว่า 143,000 ล้านบาท
นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า 56% ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่ระดมทุนในตลาดรอง ได้ดำเนินการครั้งแรกในช่วง 2 - 3 ปีแรกที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยพบว่า ในปี 2566 บริษัทกลุ่มนี้มีรายได้รวมสูงถึง 46.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานในตลาดแรงงาน
จากฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวในตลาดหุ้นไทย พบว่า บริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้มีอายุนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 36 ปี โดยบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มนี้ที่มีอายุนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีอายุกิจการยาวนานที่สุดนานถึง 148 ปี ซึ่งยาวนานกว่า 3 เท่าของอายุของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เมื่อพิจารณาความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวในตลาดหุ้นไทยจากรายได้รวม (Total Revenue) ตามภาพที่ 4 พบว่า ในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวในตลาดหุ้นไทย 559 บริษัท มีรายได้รวมสูงถึง 8.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือเฉลี่ย 37.1% ในช่วงปี 2560 - 2566 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
และบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศไทยในฐานะผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย (ภาพที่ 5) โดยในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจำนวน 559 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงกว่า 106,287 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32.2% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยที่จ่ายให้ภาครัฐในปี 2566 หรือคิดเป็น 14.1% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการจ้างงาน (ภาพที่ 6) โดยในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว จำนวน 561 บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลจำนวนพนักงานใน 56-1 One Report Structure Data โดยมีจำนวนพนักงานรวมสูงถึง 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.0% จากปี 2565 โดยจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวนี้ คิดเป็น 8.7% ของจำนวนพนักงานที่เป็นลูกจ้างภาคเอกชนทั้งหมดในปี 2566
หากพิจารณารายอุตสาหกรรม ตามภาพที่ 7 พบว่า จำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่มีการจ้างพนักงานในสัดส่วนที่มากกว่า 75% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยกระจายตัวในหลากหลายธุรกิจ และอาศัยกลไกการระดมทุนในตลาดหุ้นไทย เพื่อลดข้อจำกัดของธุรกิจครอบครัวในการจัดหาเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายกิจการและเสริมสร้างการเติบโตในอนาคต โดยพบว่านอกจากจะทำการระดมทุนในตลาดแรกผ่านกิจกรรม IPO แล้ว ยังมีการระดมทุนรวมผ่านตลาดรองหลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้ว และจากข้อมูลพบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในบทบาทของหน่วยงานสร้างรายได้ ผู้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ภาครัฐ และหน่วยงานกระจายรายได้จากการจ้างงานพนักงาน ดังนั้น “ธุรกิจครอบครัว” อาจเป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวให้สามารถแข่งขันได้ เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ข่าวเด่น