แบงก์-นอนแบงก์
"วิทัย" ลั่นนโยบายแผนออมสินวาระ 2 "ตั้งเป้าลดกำไร เพื่อช่วยสังคม" พร้อมยกระดับสนับสนุนนโยบายรัฐ


  

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของธนาคารออมสินในอีก 4 ปีข้างหน้า ณ งาน Next Step for Higher Social Impact ก้าวต่อเพื่อคุณค่าเพิ่มของสังคม ในฐานะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นสมัยที่ 2 ว่า จะตั้งเป้าปรับลดกำไร เพื่อขยายการช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น ผ่านบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่ช่วยดึงคนเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้นด้วยการให้สินเชื่อในกลุ่มเสี่ยง การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน และช่วยเหลือสังคมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพมากขึ้น โดยมีเป้าหมายดึงคนเข้าระบบ 2 ล้านคน ใน 4 ปี พร้อมตอบรับการดำเนินงานของภาครัฐด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 
 
โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และก้าวขึ้นมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างสมบูรณ์ โดยมุ่งเน้นถึงการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม ที่ช่วยเหลือได้จริง โดยทั้งมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คนในช่วงโควิด-19 หรือการช่วยประชาชนกลุ่มเครดิตต่ำและไม่มีเครดิตให้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบแล้วกว่า 3 ล้านคน มีผู้เข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแล้วกว่า 5 ล้านคน เป็นต้น ซึ่งการสร้าง Positionใหม่ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” นับเป็นการประกาศจุดยืนของธนาคารออมสินว่า ทางธนาคารจะดำเนินธุรกิจ 2 ข้างไปด้วยกัน กล่าวคือ การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ อันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และนำเอากำไรที่ได้จากส่วนนี้ มาอุดหนุนธุรกิจเชิงสังคม ส่งผลให้สามารถดำเนินธุรกิจเชิงสังคมได้จำนวนมาก แม้อาจจะมีการขาดทุนเลยทันทีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ แต่กำไรที่ได้จากธุรกิจส่วนแรก จะเข้ามาช่วย Subsidise ให้กับธุรกิจเชิงสังคม ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่าง 2 พอร์ต ที่ทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพด้านการเงิน ที่สามารถเดินหน้าภารกิจ ที่มุ่งบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม

 
สำหรับทิศทางการดำเนินงานธนาคารต่อจากนี้อีก 4 ปี (2568 - 2572) ธนาคารออมสิน จะยังคงจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม และมีการตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อขยายผลการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) โดยอาศัยการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) ที่เอาปัจจัยทางสังคมมารวมอยู่ในการทำธุรกิจ อันประกอบด้วยคุณค่าทางสังคม Social Value + คุณค่าทางธุรกิจ Business Value ซึ่งทำให้ธุรกิจ “เติบโต” ไปพร้อมกับ “การแก้ไขปัญหา” และนำกำไรจากการประกอบธุรกิจที่มีส่วนช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกันดังกล่าว เอามาเป็นทุนในการสร้างแผนการดำเนินงานที่ช่วยเหลือสังคมอีกที  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารออมสิน “ปรับลดกำไรเพื่อช่วยสังคม”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดของแผน 4 ปีข้างหน้า มีอยู่เรื่องเดียวคือ ธนาคารออมสินจะปรับลดกำไร เพื่อช่วยสังคม ซึ่งต้องมีการ Balance กันระหว่างภารกิจช่วยเหลือสังคม และภารกิจที่มีกำไรในฐานะรัฐวิสาหกิจ โดยจะทำไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงการคลัง ที่เห็นชอบให้สามารถดำเนินการปรับลดกำไร เพื่อสามารถทำภารกิจช่วยสังคม คนฐานราก ช่วยคนจน และช่วยเหลือ SME ได้” นายวิทัย กล่าว

 
ซึ่งการทำภารกิจช่วยเหลือประชาชนและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อสอดรับกับการสร้าง Social Impact ทางธนาคาร มีการใช้กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 4 ด้าน ได้แก่ 
 
1. Financial Inclusion บทบาทการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และยังเป็นการสร้างอาชีพอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเครดิตต่ำ หรือไม่มีเครดิต เช่นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่ไม่มีประวัติการเงิน ไม่สามารถทำการกู้ได้  ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยคนไม่มีเครดิตดังกล่าว ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้แล้ว 3.2 ล้านคน ช่วยให้เข้าถึงดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม 5 ล้านคน และช่วย SME ที่มีที่ดิน เข้าถึงดอกเบี้ยเป็นธรรมจากสินเชื่อที่ดินและขายฝาก 27,500 ล้านบาท และในแผน 4 ปีต่อจากนี้ ธนาคารมีเป้าหมายให้คนเข้าถึงโอกาสทางการเงินอย่างน้อย 2 ล้านคน
 
2. การแก้ปัญหาหนี้สิน จากผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยแพงเกินจริงในตลาด ธนาคารออมสินจะมีการช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ ด้วยการลดดอกเบี้ย เช่นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ที่ธนาคารลดดอกเบี้ย 10% จาก 28% ให้เหลือ 16 - 18% หรือการลดดอกเบี้ยลง MRR 0.25% เป็นอัตราต่ำสุดในระบบธนาคาร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ลด อันเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนกลับมาใช้สินเชื่อในระบบ และช่วยไม่ให้เสียเครดิต ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารช่วยคนไม่ให้เสียประวัติการเงินไปแล้ว 1.1 ล้านคน ช่วยคนบรรเทาภาระหนี้จากการลดดอกเบี้ย MRR 8.5 แสนคน และช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้หลุดพ้น NPL ให้มีโอกาสกลับเข้ามาในระบบ 7.2 แสนคน
 
3. การพัฒนาชุมชน/สังคม สร้างอาชีพให้มีรายได้เพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 60 แห่ง ซึ่งช่วยสร้างอาชีพแล้ว 4.1 แสนคน ยกระดับศักยภาพให้ได้มาตรฐาน 6.7 หมื่นคน และสร้างช่องทางการขายตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์แล้ว 3.8 หมื่นร้านค้า
 
4. การสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นบทบาทใหม่ ที่หลังจากดำเนินการ 3 ข้อแรก ที่สร้าง Impact ต่อสังคมได้มากขึ้นแล้ว ธนาคารออมสิน จะก้าวเข้าไปช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เป็นตัวกลางปล่อยเงินดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ ไปปล่อยสินเชื่อต่อ (ส่งฐานต้นทุนในอัตรา 0.1% ให้ไปปล่อยสินเชื่อต่อที่อัตรา 3.5%) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนขยายผลการสร้าง Social Impact ทั้งในเชิงลึกและวงกว้างมากขึ้น เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนว่าบทบาทการช่วยเหลือสังคมทั้ง 4 ด้านนี้  มีความสำคัญเหนือกว่าภารกิจการสร้างอัตรากำไรทางธุรกิจ 

 
โดยการขับเคลื่อนให้ธนาคารออมสินกลายเป็น Social Bank ที่มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และช่วยสังคมได้มากขึ้น ทางธนาคารจะใช้โมเดลการบริหารงานแบบกลุ่มธุรกิจ  ประกอบด้วย 
 
1.บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ให้บริการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก 
 
2.บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPL และ NPA
 
3.บริษัท เงินดีดี จำกัด ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลกลุ่มลูกค้าฐานราก ผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money” อนุมัติสินเชื่อใน 30 นาที เป็นการช่วยกลุ่มฐานรากที่มีความเสี่ยงสูงมาก ที่ธนาคารออมสินไม่เคยอนุมัติได้ เพื่อดึงคนเข้าสู่ระบบมากขึ้นให้เข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
 
4.บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีสนับสนุนธนาคาร 

 
ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพียงไม่กี่แห่งที่ยึดการสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า Responsible Profit เพื่อเน้นการช่วยเหลือสังคมเป็นหลัก และส่วนที่เหลือจะทำการสำรองเพิ่ม ให้ธนาคารมีความมั่นคงแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากปริมาณเงินสำรองรวมเพิ่มขึ้นแตะระดับ 125,948 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวม 24 ล้านรายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านรายจากปีก่อนหน้า โดยเป็นลูกค้าฐานราก 14.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นมา 2.6 ล้านรายจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ การเดินหน้าภารกิจตามจุดยืนธนาคารเพื่อสังคม และตั้งเป้าขยายผลการสร้าง Social Impact ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม 
 

LastUpdate 09/08/2567 15:36:54 โดย : Admin
08-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 8, 2025, 11:28 pm