ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 ส.ค. - 16 ส.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังตลาดกังวลสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงมากขึ้นหากอิหร่านเปิดฉากตอบโต้ หวั่นกระทบอุปทานน้ำมันดิบ ด้านเหตุประท้วงในลิเบียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในแอฟริกาตึงตัวมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขน้ำมันดิบมายังภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดจับตาทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังตัวเลขตลาดแรงงานซบเซาบ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะชะลอตัว
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น หลังการลอบสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสสร้างความกังวลว่าความขัดแย้งอาจขยายวง นอกจากนี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งเตือนสมาชิกกลุ่ม G7 ว่าอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะโจมตีอิสราเอลในเร็วๆ นี้ ขณะที่หลายชาติมีการเตือนพลเรือนให้อพยพออกจากเลบานอนหวั่นสงครามตะวันออกรุนแรง ทั้งนี้ หากเกิดการโจมตีกันโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลางตึงตัวมากขึ้น
ขณะที่ตัวเลขอุปทานน้ำมันดิบในแถบแอฟริกาเหนือมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นหลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศปรับลดลงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่แหล่งผลิตน้ำมันชารารา (Sharara) กว่า 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังเกิดเหตุประท้วงขอคนงานเพื่อเรียกร้องด้านสวัสดิการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 67
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยรายงานเดือน ส.ค. 67 คาดการณ์ตัวเลขอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 1.14 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 102.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มจากการคาดการณ์ก่อนหน้าเนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในช่วงครึ่งปีมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันในภูมิภาคเอเชียยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในภูมิภาคเอเชียเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลงกว่า 6.1% เทียบเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 24.9 ล้านบาร์เรลต่อวันแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากอุปสงค์ในประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียยังคงไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยสำนักงานศุลกากรของจีนเปิดเผยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ก.ค. 67 ปรับตัวลดลงกว่า 11% มาอยู่ที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอและค่าการกลั่นที่ลดลงยังคงกดดันให้โรงกลั่นหลายแห่งในประเทศต้องปรับลดอัตราการผลิตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/67
นอกจากนี้ ตลาดจับตาทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยอัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 67 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. 67 ต่ำกว่าที่ตลาดคาด บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะชะลอตัว ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนมาก ทั้งนี้ ตลาดคาดเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 0.50% มาแตะที่ระดับ 4.75-5.0%ในการประชุมครั้งต่อไป ณ วันที่ 17-18 ก.ย. 67 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 0.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และรักษาเสถียรภาพในตลาดแรงงาน
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค. 67 ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. 67 ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/67 และดัชนีภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 67 และตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.- 9 ส.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ส.ค. 67 ลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 429.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ติดต่อกันและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังเสี่ยงสูงหลังผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ประกาศจะตอบโต้อิสราเอลอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบซื้อมีการซื้อขายในสกุลดอลลาร์มีความน่าสนใจและราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกลุอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมันโดยรวม
ข่าวเด่น