ความต้องการทองคำทั่วโลกได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หนุนราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น
รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำหรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้ระบุว่าความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) ของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่จำนวน 9 ตัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตคิดเป็น % ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาส ด้านความต้องการทองคำทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่จำนวน 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล[1] โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC[2]) ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมเป็นจำนวน 329 ตัน
ความต้องการในภาคการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมกับการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง และกระแสการไหลออกของการลงทุนที่ช้าลงสำหรับกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุน ได้ผลักดันให้ราคาทองคำในไตรมาสที่ 2 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,338 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,427 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในไตรมาสที่ 2 นี้
ด้านธนาคารกลางและสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้เพิ่มการถือครองทองคำทั่วโลก 183 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ชะลอตัวลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 6% หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากรายงานผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางโดยสภาทองคำโลก ได้ยืนยันว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองเชื่อว่าสัดส่วนการถือครองทองคำของธนาคารกลางจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะปกป้องรักษาและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ภายในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อน
ข่าวเด่น