ในการประชุม กนง. วันที่ 21 ส.ค. 2567 นี้ คาด กนง. ยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง โดยคงให้ปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้
• กนง. ส่งสัญญาณในการประชุมรอบที่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว อีกทั้งสามารถรองรับความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบได้ในระดับหนึ่ง
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมสูงอายุและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงให้น้ำหนักว่า กนง. จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แต่ก็มองความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในไตรมาส 4/2567 มีสูงขึ้น เนื่องจาก
• ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดไว้ โดยล่าสุดตลาดมองว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยถึง 100 basis points ในปีนี้ หลังตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อออกมาอ่อนแรงลง ซึ่งคงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันให้มีแนวโน้มอ่อนค่า และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงที่มากขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังปรับลดลงต่อเนื่อง
• แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายของ ธปท. 1-3% ในไตรมาส 4/2567 โดยส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2567 อยู่ที่ราว 0.8%
ข่าวเด่น