บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสนับสนุนกรมประมงในการขับเคลื่อนกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเต็มกำลัง ผนึกพลังกับสำนักงานประมงจังหวัดใน 4 พื้นที่ ประมงสมุทรสงคราม ประมงสุราษฎร์ธานี ประมงนครศรีธรรมราช และประมงชุมพร จัดกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" จับปลาออกจากแม่น้ำลำคลอง และนำไปเพิ่มมูลค่าทำปลาทำน้ำหมักชีวภาพและอาหารเมนูต่างๆ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทร่วมสนับสนุนกรมประมงโดยดำเนิน 5 โครงการเชิงรุกบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อกำจัดและควบคุมปริมาณปลาชนิดนี้อย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ร่วมมือกับประมงจังหวัดทั่วประเทศจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง บริษัทสนับสนุนเครื่องมือจับสัตว์น้ำ อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกำลังคนในการช่วยกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำ ล่าสุด ซีพีเอฟลงพื้นที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" ปฏิบัติการจับปลาหมอคางดำใน 4 จังหวัด สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร ประมงสมุทรสงคราม จัดกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมกับหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชนและชาวประมง ร่วมกันจับปลาที่คลองหมื่นหาญ ซึ่งเป็นลำคลองยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง โดยซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเครื่องมือจับปลา พร้อมทั้งอาหารและน้ำดื่ม
นายบัณฑิต กล่าวว่า การจับปลาครั้งนี้ได้รับการผ่อนผันจากอธิบดีกรมประมงให้ใช้เครื่องมือประมงจับสัตว์ และปรับเปลี่ยนวิธีการจับปลาให้เหมาะสม ช่วยให้เราจับปลาออกหมอคางดำจากแหล่งน้ำได้มากขึ้น โดยปลาที่จับได้รวม 2,412 กิโลกรัมส่วนใหญ่เป็นปลาหมอคางดำ สำหรับปลาที่จับได้กรมประมงส่งมอบเข้าโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาววนยาง 2,177 กิโลกรัม เรือนจำกลางสมุทรสงคราม 200 กิโลกรัม และแบ่งปันให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมนำกลับไปบริโภค
จังหวัดชุมพร นายบุญญวัฒน์ ทองหอม ประมงอำเภอปะทิว พร้อมกับนายอำเภอปะทิว สมาคมประมงปะทิวคลองบางสม กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสะพลี หน่วยงานราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชนและชาวปะทิวลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม "ลงแขกลงห้วย" ปฏิบัติการจับปลาที่ลำห้วยบ้านลุงสาร ตำบลบางสน อำเภอปะทิว โดยซีพีเอฟได้ร่วมสนับสนุนเครื่องมือจับปลาสำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย สามารถจับปลาได้ 115 กิโลกรัมซึ่งแบ่งปันให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมนำกลับไปปรุงอาหารที่บ้านที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธวัชชัย อุบลไพศาล ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ และผู้นำชุมชนร่วมกันจับปลาที่ลำคลอง ในตำบลตะกรบ อำเภอไชยา โดยซีพีเอฟสนับสนุนแหจับปลา อาหารกลางวัน อาหารว่างและน้ำดื่มให้แก่ผู้ร่วมงานกว่า 70 คนและร่วมทอดแหจับปลา กิจกรรมในครั้งนี้สามารถจับปลาได้ 192 กิโลกรัมและมีแพปลามารวบรวมปลาที่จับได้นำไปขายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อชาวสวนยางต่อไป
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" จัดโดยสำนักงานประมงนครศรีธรรมราชร่วมบูรณาการหน่วยงานสังกัดกรมประมง คณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ กรมราชทัณฑ์ การยางแห่งประเทศไทย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ 100 คน ร่วมจับปลาบริเวณคู คลองสาขา บ้านบางตะลุมพอ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง เพื่อกำจัดปลาชนิดนี้ออกจากระบบนิเวศ โดยซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเครื่องมือประมง อวนเอ็น รวมทั้งอาหารกลางวันและน้ำดื่มให้กับผู้ร่วมกิจกรรม ปลาที่จับขึ้นมาได้ 1,450 กิโลกรัม นำไปขายจุดรับซื้อในโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ 1,100 กิโลกรัม และแบ่งปันให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ 350 กิโลกรัม
นายอดิศร์กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟได้ดำเนินการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกของซีพีเอฟเพื่อร่วมกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำฟื้นฟูระบบนิเวศ ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 605,860 กิโลกรัมและกำลังขยายพื้นที่จัดซื้อปลาไปจังหวัดอื่น โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว ซึ่งขณะนี้ส่งมอบปลากะพงขาวแล้ว 54,000 ตัว และยังมอบอย่างต่อเนื่อง โครงการสนับสนุนกิจกรรมจับปลาทุกพื้นที่ ซึ่งซีพีเอฟยังประสานงานเพื่อประเมินผลการดำเนินกิจกรรมภายใต้ 3 โครงการ นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังดำเนินโครงการระยะกลางและระยะยาวประกอบด้วย โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมจำนวนปลาในระยะยาว./
ข่าวเด่น