เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 ขยายตัวที่ 2.3% YoY และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 0.8% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากดุลการค้าที่เกินดุลสูงขึ้นเนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าคาด ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในครึ่งปีแรก 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 1.9% YoY
ในขณะที่ ไตรมาสที่ 2 เม็ดเงินใช้จ่ายจากภาครัฐยังต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ยังหดตัว แม้การเบิกจ่ายของภาครัฐจะเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการบริโภคภาครัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งยังเป็นประเด็นความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 2/2567 หดตัวกว่าที่คาดตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างและยานยนต์ สะท้อนผ่านยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถปิคอัพ รถบรรทุก ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนปี 2567 มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาด
ความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขึ้นกับมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนงบประมาณปี 2568 นอกเหนือไปจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจจะมีผลต่อเนื่องมายังการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบการส่งออกในช่วง high season ตลอดจนภาคการผลิตที่เจอโจทย์การแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงภาวะกำลังซื้อในประเทศโดยรวมที่ยังอ่อนแอ
• หากขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักเทียบกับแผนโครงการดิจิทัลวอลเลต รวมถึง พรบ. งบประมาณปี 2568 บังคับใช้ทัน 1 ต.ค. 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6%
• อย่างไรก็ดี หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐล่าช้าออกไป และไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาทดแทนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้ ตลอดจนมีความล่าช้าในการใช้ พรบ. งบประมาณปี 2568 ออกไปมากกว่า 1 เดือน แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คงจะมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น โดยมีกรอบล่างประมาณการรองรับไว้ที่ 2.2% ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังมองโอกาสการเกิดไม่สูง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ไว้ที่ 2.6% ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐมีการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 รวมถึง พรบ. งบประมาณปี 2568 บังคับใช้ทัน 1 ต.ค. 2567 นี้ ท่ามกลางการท่องเที่ยวและส่งออกที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ข่าวเด่น