กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนชาวประมงพื้นบ้านบ้านหินกบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ดูแลระบบนิเวศอ่าวไทย ประสานพลังพนักงานปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า 20 ล้านตัวกลับคืนสู่ท้องทะเล ปลูกต้นโกงกาง 1,000 ต้น และเก็บขยะชายฝั่ง บริเวณชายหาด ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารชุมชนอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ โดยชมรมบำเพ็ญประโยชน์และชมรมท่องเที่ยวจิตอาสาได้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจและความมุ่งมั่นของบริษัทในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นต้นทางความมั่นคงทางอาหาร โดยกิจกรรมเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทรวมพลังจิตอาสาดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบสถานประกอบการ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ความรู้การปลูกป่าโกงกางที่ถูกวิธี และได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
พนักงานซีพีเอฟได้เรียนรู้การดำเนินงาน “ศูนย์เรียนรู้การเพาะและอนุบาลลูกปูม้าเพื่อการอนุรักษ์โดยชุมชนบ้านหินกบ” ซึ่งเป็นต้นแบบชุมชนชาวประมงชายฝั่งที่ร่วมกันพัฒนา “ธนาคารปูม้าชุมชน” มาตั้งแต่ปี 2558 เพาะฟักและอนุบาลลูกปูม้า เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าในอ่าวไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและอาชีพประมงพื้นบ้านของชุมชน ปัจจุบันยกระดับ “ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า 20 ล้านตัว ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะตลอดแนวชายฝั่งชุมชนบ้านหินกบสามารถรวบรวมขยะชายฝั่งได้รวม 98 กิโลกรัม พร้อมทั้งปลูกต้นโกงกาง 1,000 ต้น อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเพิ่มโอกาสรอดและเติบโต ขยายพื้นที่สีเขียว เสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ช่วยป้องกันการกัดเซาะ เป็นแนวกำบังคลื่นลม เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย
“นางสาววิไลรัตน์ สุขคำ” พนักงานซีพีเอฟ ได้สะท้อนความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสา ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์ปูม้า และการปลูกต้นโกงกางที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้นโกงกางมีความสำคัญและมีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศของทะเลอ่าวไทย เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตัวอ่อน ช่วยสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงให้กับชุมชนด้วย
ด้าน "นางอุมาพร ประสมผล" พนักงานฟาร์มปะทิว กล่าวว่า การทำกิจกรรมครั้งนี้ช่วยให้กับพนักงานซีพีเอฟที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งสร้างคุณค่าร่วมให้กับระบบนิเวศ และความมั่นคงทางอาหาร และอาชีพประมงให้แก่ชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่สถานประกอบการของบริษัทอีกด้วย./
ข่าวเด่น