ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ที่เผชิญเข้ากับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ซึ่งจัดว่าเกินระดับปลอดภัย (เพดานอยู่ที่ 80% ต่อ GDP) อันส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เหล่าผู้ประกอบการต่างต้องรับมือกับความท้าทาย ในการบริหารการเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะอยู่รอดได้ ซ้ำแล้วยังต้องแบกรับต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงทางการค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สอดคล้องกับการรายงานของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ที่ได้เผยข้อมูลสถิติ บ่งชี้ถึงความเปราะบางในการประกอบธุรกิจของ SMEs ว่า อัตราการอยู่รอดจากการประกอบธุรกิจในช่วง 3 ปีแรกเฉลี่ยอยู่เพียง 20% เนื่องด้วยสาเหตุจากรายได้โตต่ำส่งผลต่อกำไรสะสมไม่เพียงพอในการใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ ต้นทุนต่อหน่วยสูงซึ่งผันผวนตามปริมาณการขาย และอำนาจการต่อรองที่ต่ำ เนื่องด้วย SMEs รายเล็กมักจะมีระยะเวลาต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงกว่า แต่อำนาจการต่อรองกับทาง Supplier ที่ต่ำ ทำให้มักจำเป็นต้องสั่งสินค้าจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน จึงจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองมากขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ อันส่งผลกระทบกลับไปยังที่ประเด็นหนี้ครัวเรือน วนเวียนกันอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
ความเปราะบางของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทย เป็นอีก 1 ปัญหาที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า SMEs เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แม้รายได้ SMEs จะมีสัดส่วนเพียง 18.26% จากรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด แต่หากดูจากจำนวนผู้ประกอบการ พบว่ากว่า 99.53% หรือ 3.19 ล้านราย เป็นธุรกิจ SMEs รวมถึงเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน นอกจากนี้ SMEs ยังเป็นแหล่งรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ เนื่องจากสถานที่ประกอบกิจการของ SMEs นั้นกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค
จากปัญหาที่ SMEs ซึ่งเป็นกงล้อสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต้องเจอ นอกจากทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะได้ออกมาตรการแก้หนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้และช่วยเพิ่มสภาพคล่องแล้ว ทาง “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” หรือ EXIM BANK ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ SMEs ไทย และร่วมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยทาง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้เข้าร่วมเป็น 1 ในวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ฝ่าลมต้านเศรษฐกิจ...สู่การเติบโตที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 ซึ่งได้ผลักดันให้ ผู้ประกอบการไทยเบนเข็มมารุกตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกา กลุ่มประเทศ CLMV ที่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และเร่งให้ปรับตัวรับมือมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีราว 20,000 มาตรการ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มการส่งออกสินค้ารักษ์โลกให้มากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วน 7% ของการส่งออกรวม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งด้วยต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทาง EXIM BANK จึงมีการสนับสนุนด้วยสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยวงเงินที่ปล่อยกู้จากทั้ง Green Bond และ Blue Bond ของธนาคาร รวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาทในปีนี้
ด้าน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ได้มีการร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ให้ความรู้ด้านการเงินกับผู้ประกอบการสูงวัย รวมถึงเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ในโครงการอบรม The Empowered Gen สร้างผู้ประกอบการ สู่ธุรกิจยั่งยืน เมื่อวันที่ 14-15 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวัยกลางคน จนถึงผู้สูงวัย ในด้านการตลาด การตลาดดิจิทัล ด้านการเงิน และยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยมี บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้
ส่วนทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ก็ได้จัดโครงการ SET Social Impact GYM 2024 เป็นปีที่ 8 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 เพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการพัฒนาทักษะการประกอบธุรกิจพร้อมกับสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้มีความชัดเจน ด้วยรูปแบบการเรียนรู้จากโค้ช โดยเชิญผู้ประกอบการมืออาชีพจากบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ผู้เชี่ยวชาญจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานพันธมิตร PwC ประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาร่วมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ไทย
โดยทาง บสย. ได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป้าหมายที่ต้องการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการช่วยเหลือ SMEs ด้วยกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่งร่วมกับสถาบันการเงินหลายแห่ง มุ่งให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) และธุรกิจเพื่อสังคม (ESG) และนำความเชี่ยวชาญของศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center มาให้ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ขั้นพื้นฐานร่วมกับกลุ่มบริษัทจดทะเบียน mai เพื่อแนะนำการทำบัญชีขั้นต้น การคำนวณกระแสเงินสด ให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ หลังแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้น อาจมีมาตรการที่เอื้อต่อเหล่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยเพิ่มเติมเข้ามา ในการแถลงนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ต่อรัฐสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้
ข่าวเด่น