สาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ ทอดพระเนตรการทำงานเครือข่ายกล้อง โทรทรรศน์วิทยุ และติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือไทย-จีน ด้านการศึกษาภูมิมาตรศาสตร์และการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกด้วยเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุ โดยมีคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ผู้บริหารสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และผู้บริหารหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงทอดพระเนตรกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร และ 25 เมตร ซึ่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร นั้น เป็นกล้องแบบเดียวกันกับที่ติดตั้ง ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)? และหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ และในอนาคตจะดำเนินการติดตั้งเพิ่มภายในบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2568 หากแล้วเสร็จ จะเป็นการขยายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VLBI ในประเทศไทย รวมถึงเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometry หรือ VLBI) ของจีน (China VLBI Network หรือ CVN) ยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมระดับโลกมากยิ่งขึ้น?
จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งพระราชดำเนินไปยังบริเวณโถงอาคารควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุเทียนหม่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 เมตร ทรงทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานร่วมกันของกล้อง โทรทรรศน์ด้วยเทคนิคการแทรกสอดระยะไกล (VLBI) ระหว่างกล้องโทรทรรศน์วิทยุเทียนหม่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 เมตร กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ณ มณฑลกุ้ยโจว และกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของไทย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ถวายรายงานร่วมกับนักดาราศาสตร์ไทย ซึ่งถวายงานออนไลน์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติของไทย ณ จังหวัดเชียงใหม่? จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินห้องควบคุมปฏิบัติการ VLBI ทรงรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้? รวมถึงความก้าวหน้าความร่วมมือไทย-จีนด้านดาราศาสตร์วิทยุ ระหว่าง สดร. และหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้? แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ
โอกาสนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ และ หอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ (SHAO) ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences หรือ CAS) โดยศาสตราจารย์ เสิ่น จื้อเฉียง (Professor Shen Zhiqiang)? ผู้อำนวยการหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาตัวรับสัญญาณความเย็นจัดที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ และการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ โดยใช้เทคนิค VLBI เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และธรณีวิทยา รวมถึงติดตามยานอวกาศในภารกิจสำรวจดวงจันทร์และห้วงอวกาศ ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดความร่วมมือฉบับเดิมที่เคยลงนามไปเมื่อปี พ.ศ. 2560
วัตถุประสงค์ของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านเทคโนโลยีการรับไครโอเจนิก (Chiang Mai Joint Laboratory of Cryogenic Receiving Technology หรือ CMJL) ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมกันพัฒนาและบำรุงรักษา เครื่องรับไครโอเจนิก ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการรับสัญญาณจากอวกาศ สำหรับขอบข่ายความรับผิดชอบภายใต้ความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน สดร. จะดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ อาทิ เครื่องขยายสัญญาณรบกวนต่ำ (Low Noise Amplifiers: LNA) มาติดตั้งในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยลดสัญญาณรบกวนจากภายนอก และจัดเตรียมห้องป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้การทำงานของเครื่องรับสัญญาณไม่ถูกรบกวนจากสัญญาณอื่น ๆ ด้านหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ จะดำเนินการออกแบบและผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องรับสัญญาณ เช่น ส่วนประกอบทางกลและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของ สดร. เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพด้านการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือ การจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านเทคโนโลยีการรับไครโอเจนิกจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาดาราศาสตร์ของประเทศไทย โดยการนำความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมารวมกัน ซึ่งจะนำมาสู่การศึกษาวิจัยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับความร่วมมือด้านการทดลองสังเกตการณ์โดยใช้เทคนิค VLBI นั้น ปัจจุบันเครือข่ายกล้อง โทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลของจีน (China VLBI Network หรือ CVN) เป็นระบบที่ใช้ติดตามดวงจันทร์และยานอวกาศ ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศจีน อาทิ กล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตร ที่เช่ซาน ขนาด 65 เมตร ที่เทียนหม่า ขนาด? 26 เมตรที่อุรุมชี และในอนาคตอันใกล้ที่จะมีเพิ่มมา ได้แก่ กล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40? เมตร ณ ฉางไป่ซาน และซีกาเจ รวมทั้งยังมีกล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร กระจายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศจีน? และในส่วนของประเทศไทยนั้นปัจจุบันได้สร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติไทยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร (รับการสนับสนุนจาก SHAO)? ที่ติดตั้งแล้ว ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกำลังจะติดตั้ง ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว และช่วยเสริมสร้างให้ CVN พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การขยายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในประเทศไทย และการทดลองสังเกตการณ์ VLBI ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุในจีนและไทย จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพของประเทศในการสำรวจอวกาศ และจะช่วยให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับนานาชาติ
ข่าวเด่น