ความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาโลกร้อนมีมาก แต่ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อการแก้ปัญหากำลังถูกสั่นคลอน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ วิกฤติโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบปัญหากับการแก้ปัญหา กลับพบว่า โลกยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสในปี 2015 ซึ่งเมื่อ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ กับ ‘สิ่งที่สัญญา’ ยังมีความแตกต่างกันมาก ความเชื่อมั่น (Trust) ที่มีต่อการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนจึงลดลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อการออกนโยบายที่เหมาะสม เพียงพอและตอบโจทย์ของภาครัฐ ต่อความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพความสำเร็จตามความตกลงปารีส
‘สามแนวทาง’ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน
การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากโลกต้องการเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากความเชื่อมั่นเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้สัมฤทธิ์ผล โดยจากการวิเคราะห์ผลการประชุม COP28 และการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 SCB EIC พบว่า ประชาคมโลกตัดสินใจใช้ 3 แนวทางเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน ได้แก่ 1) ‘Move faster’ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วและแรงขึ้น เช่น การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนโลกขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 หรือภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี 2) ‘More inclusive’ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การผลักดันการลงทุนไปยังประเทศ ภูมิภาคหรือชุมชน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด และ 3) ‘Beyond net zero’ ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เช่น การเร่งผลักดันการเกษตรรูปแบบใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ภายในปี 2030
แนวทางแก้โลกร้อนในยุคฟื้นฟูความเชื่อมั่น จะทำให้มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น
แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนจะกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC แบ่งอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นและกลุ่มที่จะต้องเร่งปรับตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นมี 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า 4. กลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย 5. กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุฐานชีวภาพ และ 6. กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่มากขึ้นและคว้าโอกาสทางธุรกิจมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น น้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง อาทิ เกษตร เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน
ผู้ประกอบการควรหันมาลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อน
SCB EIC มองว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจ กำลังกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากในระยะต่อไป บริษัทและประเทศต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) จะนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ มาใช้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบและบริการมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถดำเนินการผ่าน 5 ขั้นตอน คือ 1) ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร 2) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3) ค้นหาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 5) ติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ โดยนอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจากการที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ Net zero ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของ 6 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น หรือการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green finance) เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการฟื้นฟูธรรมชาติ
การสนับสนุนจากภาครัฐ คือ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การปรับตัวของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ
การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 20 ปี โดยภาคเอกชนเพียงลำพังจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดย SCB EIC มองว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชนได้อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ปรับเป้าหมาย Net zero ของประเทศให้เร็วขึ้น จากปี 2065 เป็น 2050 ให้สอดคล้องกับแนวทางโลก โดยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนไทยจะบรรลุ Net zero ช้ากว่า 123 ประเทศถึง 15 ปี และจะทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากวงจรการค้าโลกในอนาคต เนื่องจากประเทศและบริษัทต่าง ๆ ที่มีเป้า Net zero เร็วกว่าในปี 2050 มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการเฉพาะจากประเทศและบริษัทที่มีเป้าหมาย Net zero ไม่ช้าไปกว่าเป้าหมายที่ประเทศหรือบริษัทของตนเองกำหนดไว้ 2) เร่งออกมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรแต่ขาดแรงจูงใจในการปรับตัว เช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีการมอบเครดิตภาษีให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ขาดทรัพยากรในการปรับตัว เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที
การแก้ปัญหาโลกร้อนในช่วงที่ผ่านมา...ห่างไกลเป้าหมายแค่ไหน?
ความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาโลกร้อนมีมาก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ วิกฤติโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกทุบสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง และนับเป็นการทุบสถิติสูงสุดนานติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราดูข้อมูลภัยพิบัติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและต่อเนื่อง เราจะพบว่า จำนวนการเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่จากภูมิอากาศแปรปรวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณปี 2000 เป็นต้นมา และมีจำนวนสูงสุดในปีที่ผ่านมา (รูปที่ 1) โดยในกรณีของไทย วิกฤติโลกร้อนก็กำลังส่งผลกระทบอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและปริมาณฝนที่แปรปรวนยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่สร้างความเสียหายรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2010 – 2022 ที่มูลค่าความเสียหายสะสมจากภัยแล้งและน้ำท่วมในไทยอยู่สูงถึงราว 1.4 ล้านล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 34 เท่าจากมูลค่าความเสียหายสะสมในช่วงปี 2000 – 2009 (รูปที่ 2)
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังถูกสั่นคลอน เนื่องจากโลกของเรายังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris agreement) ในปี 2015 โดยรายงานการทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global stocktake) ของสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส ที่เผยแพร่ในเดือน ก.ย. ปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานตามแผนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกประกาศไว้ จะทำให้อุณภูมิโลกสูงขึ้น 2.1 – 2.8 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ค่อนข้างมาก โดยเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ความเชื่อมั่น (Trust) ที่มีต่อการผลักดันการแก้วิกฤติโลกร้อนจึงลดลงตามลำดับ
ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อการออกนโยบายที่เหมาะสม เพียงพอ และตอบโจทย์ของภาครัฐ ต่อความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพความสำเร็จตามความตกลงปารีส
รูปที่ 1 : อุณหภูมิโลกที่สูงมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์นานถึง 13 เดือนติดต่อกัน และภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น เป็นสัญญาณเตือนถึงหายนะที่กำลังเกิดขึ้นจากวิกฤติโลกร้อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Copernicus Climate Change Service/ECMWF และ NOAA National Centers for Environmental Information
รูปที่ 2 : วิกฤติโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อไทยชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและปริมาณฝนที่แปรปรวนยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา World Bank และ EM-DAT, CRED / UCLouvain, Brussels, Belgium
‘สามแนวทาง’ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน
การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากโลกต้องการเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากความเชื่อมั่นเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งจากผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 และการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ปี 2024 SCB EIC พบว่า ประชาคมโลกตัดสินใจร่วมกันที่จะใช้ 3 แนวทาง เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน
แนวทางที่ 1 : ‘Move faster’ ต้องเร่งขับเคลื่อนให้เร็วและแรงขึ้น
สัญญาณเตือนถึงหายนะที่กำลังเกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อนมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การแก้ปัญหากลับยังไปไม่ถึงไหน สะท้อนได้จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ที่ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จาก 53.2 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) ในปี 2015 มาอยู่ที่ 57.4 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2022 ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลกที่จะต้องลดลงมาอยู่ที่ 33.0 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2030 เพื่อจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น ประชาคมโลกจึงมีฉันทามติร่วมกัน ที่จะเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วและแรงขึ้น สะท้อนได้จากผลการประชุม COP28 ในปลายปี 2023 ไม่ว่าจะเป็นการที่ 133 ประเทศทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 (เพิ่มขึ้น 16% ต่อปีในช่วงปี 2024 – 2030 เทียบกับ 9% ต่อปีในช่วงปี 2010 – 2024) หรือการที่บริษัทน้ำมันและก๊าซ 50 แห่งให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 หรือแม้แต่การที่ 198 ประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าจะ ‘เปลี่ยนผ่านออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล’ ซึ่งนับเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกสามารถร่วมกันส่งสัญญาณอย่างชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จากแต่เดิมที่มีความคลุมเครือค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ผู้นำในเวทีสภาเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ก็เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีข้อเสนอที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้จริงอย่างแพร่หลาย เช่น เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือการให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่มูลค่าขององค์กร และการเพิ่มความเข้มข้นของเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
แนวทางที่ 2 : ‘More inclusive’ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การแก้ปัญหาโลกร้อนยังไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากยังไม่สามารถให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในแง่การเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นและการสูญเสียผลประโยชน์จากการแก้ปัญหาโลกร้อน ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีที่แตกต่างกันของบริษัทหรือรัฐบาลต่าง ๆ ส่งผลให้ความเร็วในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดแตกต่างกัน หรือแรงงานที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ขาดแรงจูงใจที่จะให้ความร่วมมือ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจะส่งผลเสียโดยตรงต่อรายได้ของแรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาโลกร้อนจะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ดังนั้น ผู้นำในเวทีสภาเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น การมีมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่อกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ใช้สินค้าหรือพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การผลักดันการลงทุนไปยังประเทศ ภูมิภาคหรือชุมชน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด และการสร้างงานและส่งเสริมทักษะใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน
แนวทางที่ 3 : ‘Beyond net zero’ ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติ (Nature positive) ควบคู่กันไปด้วย
วิกฤติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤติโลกร้อนมีความเชื่อมโยงกันชนิดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะมีส่วนทำให้หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดความเสื่อมโทรมและตายในที่สุด ซึ่งเมื่อหญ้าทะเลตาย คาร์บอนที่ถูดดูดซับเอาไว้ก็จะถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเมื่อคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น โลกก็จะร้อนขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาวนเวียนกันไปไม่รู้จบ
ทั้งนี้ประชาคมโลกได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงความสำคัญในการจัดการปัญหาโลกร้อนควบคู่กับการฟื้นฟูธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการที่องค์กรเกษตรชั้นนำของโลกมากกว่า 25 องค์กร ได้มีการประกาศในเวทีการประชุม COP28 ว่าจะเร่งผลักดันให้เกิดการทำการเกษตรที่จะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ (6.8 เท่าของพื้นทำการเกษตรของไทย) ภายในปี 2030 หรือแม้แต่ในเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 ที่มีการเปิดตัวของ 320 บริษัท ซึ่งจะเริ่มเปิดเผยรายงานข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สาธารณะชนได้รับทราบ
อนาคตอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
ประชาคมโลกส่งสัญญาณชัดเจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เร็วและแรงขึ้น (Move faster) การสร้างความร่วมมือที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (More inclusive) และการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Beyond net zero) ซึ่งสามแนวทางดังกล่าวจะกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC วิเคราะห์และแบ่งอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นและกลุ่มที่จะต้องเร่งปรับตัว
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น มี 6 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซลาร์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐเพิ่มขึ้น จากความมุ่งมั่นที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด โดยล่าสุดในร่างแผนพัฒนาไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP 2024 ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 51% ในปี 2037 จากแผนเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 36% ทั้งนี้มีโอกาสที่เป้าหมายดังกล่าวจะถูกผลักดันให้บรรลุผลรวดเร็วกว่าระยะเวลาที่วางเอาไว้ด้วย 2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency) อาทิ ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ที่ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น จากการที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างแพร่หลายมากขึ้น 3) กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ที่ความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้น ตามความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนจากมาตรการอุดหนุนการผลิตและการบริโภค อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 4) กลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย (Waste management) อาทิ ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจจัดการขยะและน้ำเสีย ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังจะช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูธรรมชาติ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based materials) เช่น พลาสติกชีวภาพ บรรจุภัณฑ์ฐานชีวภาพ ที่จะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนวัสดุที่ผลิตจากทรัพยากรฟอสซิลที่จะปรับตัวลดลงในอนาคต ตามการเปลี่ยนผ่านออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และสุดท้าย 6) กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) ที่ความต้องการใช้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนพลังงานฟอสซิล อย่างเช่น อุตสาหกรรมการบิน
กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัว จากความท้าทายที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่ม
คือ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อาทิ น้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง (เหล็ก ซีเมนต์) อะลูมิเนียม ขนส่ง และรถยนต์สันดาปภายใน (รถน้ำมัน) โดยอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันให้เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น 2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง เช่น เกษตรและอาหาร เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ ที่จะได้รับแรงกดดันจากผู้บริโภคและนักลงทุนให้ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และ 3) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน เกษตรและอาหาร จะถูกแรงกดดันจากคู่ค้าให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เร็วและแรงขึ้น จะทำให้ธุรกิจที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงเหลือศูนย์ (Net zero) หันมาให้ความสนใจกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่มูลค่าขององค์กรมากขึ้น เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยส่วนใหญ่ของแต่ละธุรกิจ เป็นการปล่อยทางอ้อมซึ่งเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่มูลค่าขององค์กร (scope 3) (รูปที่ 3) อนึ่ง อุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะยังสามารถเติบโตต่อได้ หากสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนหรือมีการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการฟื้นฟูธรรมชาติ
รูปที่ 3 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยส่วนใหญ่ของแต่ละธุรกิจ เป็นการปล่อยทางอ้อมซึ่งเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่มูลค่าขององค์กร (scope 3)
หมายเหตุ : Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการแปรรูปสินค้า Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการผลิตไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้ในองค์กร
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ CDP
กลยุทธ์การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม
เป็นที่ทราบกันดีว่า การปรับตัวของธุรกิจให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ โดยการล้มหายตายจากของธุรกิจหลังเผชิญวิกฤติ COVID-19 เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘การปรับตัว’ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่หลากหลาย ทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ คลื่นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี กระแสความยั่งยืน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เร็วและแรงขึ้น กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้เท่าทัน
SCB EIC มองว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) กำลังกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากในระยะต่อไป บริษัทและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีเป้า Net zero จะมีการนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์
มาใช้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบและบริการจากซัพพลายเออร์มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน มีประเทศและบริษัทจำนวนมากที่มีการตั้งเป้าหมาย Net zero แล้ว โดยจากข้อมูลของกลุ่มความร่วมมือด้านการติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Net zero tracker) ณ ก.ค. 2024 พบว่า มีประเทศจำนวนมากถึง 149 ประเทศตั้งเป้าหมาย Net zero แล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้มี GDP รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ของ GDP โลก นอกจากนี้ ในบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้มากที่สุดในโลกจำนวน 1,978 แห่งนั้น มีจำนวนบริษัทสูงถึง 1,173 บริษัท (59%) ที่มีการตั้งเป้าหมาย Net zero
ผู้ประกอบการควรหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถดำเนินการผ่าน 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ขั้นตอนนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมไหนในการดำเนินธุรกิจ 2) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานของอุตสาหกรรม โดยมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets initatives) เป็นมาตรฐานการตั้งเป้าหมาย Net zero ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากล 3) ค้นหาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยต้องประเมินความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ 4) ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการสร้างกลไกในองค์กรที่จะช่วยให้การดำเนินการตามแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผล เช่น การกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารให้ยึดโยงกับผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และ 5) ติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบถึงความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น ดังที่กล่าวไปตอนต้น หรือการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green finance) เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น การผลิตสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ หรือ โรงแรมสีเขียว เป็นต้น
บทบาทของภาครัฐ
การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งภาคเอกชนเพียงลำพังจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านขนาดใหญ่ จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ยังต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดย SCB EIC มองว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชนได้อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก ปรับเป้าหมาย Net zero ให้เร็วขึ้น จากปี 2065 เป็น 2050 ให้สอดคล้องกับแนวทางโลก ประเทศไทยยังคงตามหลังหลายประเทศในด้านการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก โดยจากข้อมูลของกลุ่มความร่วมมือด้านการติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Net zero tracker) พบว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายปีที่จะบรรลุ Net zero ช้ากว่า 123 ประเทศถึง 15 ปี และถ้าไม่นับรวมประเทศกานาและอินเดีย ไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีเป้าหมาย Net zero ‘ช้าที่สุด’ ในกลุ่มประเทศที่มีเป้าหมาย Net zero (รูปที่ 4) ซึ่งการบรรลุเป้าหมาย Net zero ที่ช้ากว่าหลายประเทศ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากวงจรการค้าโลกในอนาคต เนื่องจากประเทศและบริษัทต่าง ๆ ที่มีเป้า Net zero เร็วกว่าในปี 2050 มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการเฉพาะจากประเทศและบริษัทที่มีเป้าหมาย Net zero ไม่ช้าไปกว่าเป้าหมายที่ประเทศหรือบริษัทของตนเองกำหนดไว้
โดย SCB EIC มองว่า แนวทางในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เร็วและแรงขึ้น เป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่ไทยจะใช้ปรับเป้าหมาย Net zero ให้เร็วขึ้น 15 ปี เป็นปี 2050
รูปที่ 4 : ถ้าไม่นับรวมประเทศกานาและอินเดีย ไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีเป้าหมาย Net zero ‘ช้าที่สุด’ ในกลุ่มประเทศที่ตั้งเป้าหมาย Net zero
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Net zero tracker
ประการที่สอง เร่งออกมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคไปในทิศทางที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero โดยมาตรการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ หรือมาตรการกลไกทางเศรษฐกิจและการเงินที่ออกโดยภาครัฐมีความสำคัญมาก เพราะเป็นกลไกที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้ระยะเวลาและต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในที่สุด ดังนั้น การเร่งออกกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net zero เช่น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนพลังงานแห่งชาติ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน ทั้งนี้มาตรการสนับสนุนสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรแต่ขาดแรงจูงใจในการปรับตัว ตัวอย่างเช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ หรือ IRA (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐฯ มีการมอบเครดิตภาษี (จำนวนเงินที่หักออกจากจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย) ให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือมีการให้เครดิตภาษีกับผู้บริโภคที่หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนที่สอง คือ การออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ขาดทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการปรับพฤติกรรม เช่น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการที่ขาดแคลนเงินลงทุน หรือการสนับสนุนเงินทุนแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำไปปรับปรุงบ้านพักให้สามารถประหยัดการใช้พลังงานมากขึ้น เป็นต้น
SCB EIC มองว่า การปรับเป้าหมาย Net zero ให้เร็วขึ้นและการเร่งออกมาตรการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net zero ของภาครัฐ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที
ประชาคมโลกตัดสินใจร่วมกันที่จะเร่งแก้ปัญหาโลกร้อน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและไม่ละเลยการฟื้นฟูธรรมชาติ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนไทยควรปรับแนวทางให้สอดคล้องกับจังหวะก้าวของโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและช่วยส่งต่อโลกที่ดีขึ้นให้คนรุ่นต่อไป
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/addressing-global-warming-270824
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี (kaittisak.kumse@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส
INDUSTRY ANALYSIS
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส
ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส
จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์
ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์
ข่าวเด่น