เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นและทองคำดันส่งออก ก.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี"


 
การส่งออกเดือน ก.ค. 2024 ขยายตัว 15.2%YOY สูงสุดในรอบ 28 เดือน
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ค. 2024 อยู่ที่ 25,720.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 15.2%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) เป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก (SCB EIC ประเมินไว้ 8% ขณะที่ Reuter poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 6%) ขณะที่เดือนก่อนหดตัวเล็กน้อย -0.3% สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 171,010.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% (ตัวเลขระบบศุลกากร)

การขยายตัวสูงมากในเดือนนี้เป็นผลจาก (1) อุปสงค์ตลาดโลกต่อสินค้าไทยปรับดีขึ้นในระยะสั้น สะท้อนจากการส่งออกไม่รวมทองคำ (ปรับฤดูกาล) ที่ขยายตัว 2%MOM_SA สูงสุดในรอบ 3 เดือน (2) มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 82.6% จากความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ปัจจัยนี้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ขยายตัวสูงได้ถึง 3.7% จากอัตราการเติบโตของการส่งออกเดือนนี้ที่ 15.2% (รูป 3) นอกจากนี้ (3) การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 434.4% มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ขยายตัวได้ถึง 4.7% (รูป 3) และ (4) ปัจจัยฐาน มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ปีก่อนอยู่ที่ 22,320.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปีและค่าเฉลี่ยเดือน ก.ค. ในอดีต

การส่งออกขยายตัวสูงใน 4 กลุ่มสินค้าหลัก
หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด พบว่า (1) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวสูงมาก 39.5% เร่งขึ้นจาก 1.3% ในเดือนก่อน (2) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มถึง 15.6% จาก 0.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์เป็นสินค้าหลัก ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (3) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 14.6% หลังจากหดตัว -4.8% ในเดือนก่อน โดยผลิตภัณฑ์ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าที่ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 3.7% หลังจากหดตัว -2.2% ในเดือนก่อน โดยยางพาราและข้าวเป็นสินค้าขยายตัวดี ขณะที่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเป็นสินค้าที่หดตัว เช่นเดียวกับเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดจีน (รูปที่ 1 และ 2)
 
การส่งออกรายตลาดยังคงผันผวนจากทองคำไม่ขึ้นรูป
 
หากพิจารณาการส่งออกรายตลาด พบว่า (1) ตลาดฮ่องกงยังคงหดตัว -12.1% ดีขึ้นจาก -15.5% ในเดือนก่อน โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และทองคำไม่ขึ้นรูปกลับมาขยายตัว 57.4% 2.5% และ 23.5% ตามลำดับ หลังจากหดตัวรุนแรงในเดือนก่อน (2) ตลาดญี่ปุ่นหดตัวเหลือ -2.5% หลังจากหดตัวแรง -12.3% ในเดือนก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปญี่ปุ่นที่หดตัวเหลือเพียง 5 ใน 15 รายการ จากที่เห็นการหดตัวมากกว่า 10 ใน 15 รายการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา (3) ตลาดจีนพลิกกลับมาขยายตัว 9.9% หลังจากหดตัว -12.3% ในเดือนก่อน โดยผลิตภัณฑ์ยางพลิกกลับมาขยายตัว 36.9% นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัวสูง 102.9% และยางพารา 48.6% ขณะที่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติกหดตัวยังคงหดตัวต่อเนื่อง -30.4%และ -18.3% ตามลำดับ (4) ตลาดสหรัฐฯ และอินเดียขยายตัวดีในเดือนนี้และเป็นตลาดที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมาในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีแนวโน้มเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีได้ (5) ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 517.6% จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 1,148.5% (6) ตลาด CLMV ขยายตัว 7.5% จากการส่งออกไปกัมพูชาที่ขยายตัว 53.5% โดยเฉพาะทองคำที่ขยายตัวมากถึง 2,219.4% หากไม่รวมทองคำ การส่งออกไปกัมพูชาขยายตัวดีที่ 19.3% นอกจากนี้ การส่งออกไปเมียนมาหดตัว -19.2% ส่วนหนึ่งสะท้อนความไม่สงบในประเทศเมียนมา ขณะที่การส่งออกไปยังลาวทรงตัว และการส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 25.8% (รูปที่ 1)
 
ดุลการค้าไทยพลิกมาหดตัวแรงอีกครั้ง หลังจากเกินดุลเล็กน้อย 2 เดือนติดต่อกัน 
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 27,093.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาขยายตัว 13.1% หลังจากขยายตัวต่ำที่ 0.3% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -45.1% รุนแรงกว่า -22.2% ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุนขยายตัวสูง 22.9% 18.1% 17.8% และ 15.1% ตามลำดับ ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาขาดดุล -1,373.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเกินดุลติดต่อกัน 2 เดือน สำหรับภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุล -6,615.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC คงประมาณการมูลค่าส่งออกไทยปี 2024 ขยายตัว 2.6% และปรับประมาณการปี 2025 ขึ้นเป็น 2.8% (เดิม 2.6%)

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้ 2.6% จากที่เคยหดตัวในปีก่อน และจะขยายตัวต่อเนื่องได้เล็กน้อยในปีหน้า (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน, มุมมอง ณ ส.ค. 2024) โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก
 
1) เศรษฐกิจโลกปี 2024 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2.7% ตามประมาณการเดิม โดยมุมมองต่อเศรษฐกิจยูโรโซน อินเดีย และอาเซียน 5 ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจโลกปี 2025 เติบโตสูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ 2.8% (เดิม 2.7%) เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าประมาณการเดิม โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ขณะที่ยังคงมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาเซียน 5 และอินเดีย (รูปที่ 4 ซ้าย)
 
2) ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ทั้งมุมมองขององค์กรการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World bank) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง จะส่งให้มีอุปสงค์สินค้านำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ IMF ปรับประมาณการปริมาณการค้าโลกในปี 2024 และ 2025 เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% และ 3.4% ตามลำดับ (รูปที่ 4 ขวา) 
 
3) การส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่ม Power electronics ในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรขาขึ้นของคอมพิวเตอร์ที่ฟื้นตัว 
 
4) ระดับน้ำในคลองปานามากลับมาอยู่ในระดับปกติได้อีกครั้ง หลังจากเผชิญภาวะแห้งแล้งตั้งแต่ปี 2023 ส่งผลให้การเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกกลับเป็นปกติมากขึ้น ช่วยลดแรงกดดันต่อการค้าโลก (รูปที่ 6 ซ้าย) อย่างไรก็ตาม ค่าระวางเรือในโลกยังคงอยู่ในระดับสูงเทียบค่าเฉลี่ยในอดีตและปัญหาการขนส่งบริเวณคลองสุเอซยังคงมีอยู่จากสงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ (รูปที่ 6 ขวา) 

อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังและปี 2025 จะต้องเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะ 
 
1) การส่งออกไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกน้อยลง โดยในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณโลกน้อยลง (รูปที่ 7 ซ้าย) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและความต้องการสินค้าไทยน้อยลงในตลาดโลก 
 
2) ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนัก/อุทกภัย ส่งผลกระทบเชิงพื้นที่และห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร
 
3) ในระยะข้างหน้าจะมีปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกมากขึ้น อาทิ (1) ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ (2) สงครามในหลายพื้นที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังยูเครนบุกดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก สงครามอิสราเอลและฮามาสอาจรุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามภูมิภาค หากอิหร่านเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากบทบาทเดิมที่เป็นสงครามตัวแทน 
 
4) ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้อีกจากสงครามที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ 
 
5) ปัญหา China overcapacity ที่ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อุปสงค์ในจีนยังซบเซา 
จีนจะยังนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ได้ไม่มาก ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
และอาจทำให้หลายชาติหันมาใช้มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น
 
6) ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มจะเป็น Protectionism ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 
เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะหาก Trump ชนะเลือกตั้ง สหรัฐฯ อาจประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศเพิ่มเติมตามที่ได้หาเสียงไว้

ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2024 เติบโต 2.6% เป็นมุมมองของ SCB EIC ก่อนข้อมูลส่งออกเดือน ก.ค. ประกาศ จึงอาจมี Upside ได้หากตัวเลขส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังมีแรงส่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์รายเดือนมากอย่างต่อเนื่อง 

รูปที่ 1 : มูลค่าการส่งออกรายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 2 : มูลค่าการนำเข้ารายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 3 : การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวค่อนข้างทั่วถึง โดยเฉพาะทองคำและคอมพิวเตอร์ แต่การส่งออกรถยนต์ ผลไม้ และน้ำตาลทรายยังหดตัว
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 4 : เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2024 และ 2025 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IMF, WTO, World Bank และ Bloomberg

รูปที่ 5 : ระดับน้ำในคลองปานามากลับมาเป็นปกติ แต่ค่าระวางเรือยังสูงกว่าในอดีต
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Panama Canal Authority, Freightos และ CEIC
 
รูปที่ 6 : การส่งออกไทยฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งน้อยลงในห่วงโซ่อุปทานโลก
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IMF และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-270824

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
 
ภาวัต แสวงสัตย์ (pawat.sawaengsat@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์

MACROECONOMICS RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์  นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
ภาวัต แสวงสัตย์  นักเศรษฐศาสตร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ส.ค. 2567 เวลา : 16:44:50
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:28 am