แบงก์-นอนแบงก์
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยกระดับเป็น Payment Facilitator ตอบสนองทุกความต้องการลูกค้า ผ่าน 5 แกนกลยุทธ์ ปักหมุดเป็นผู้นำนวัตกรรมการเงินปี 2567


 
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการปี 2567 ครึ่งปีแรกเติบโตแข็งแกร่ง พร้อมปักธงครึ่งปีหลัง ด้วยการยกระดับเป็น Payment Facilitator ต่อยอดความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์หลัก และสร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงินใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ด้วยการเดินหน้า 5 กลยุทธ์หลัก สู่เป้าหมายยอดบัญชีลูกค้าใหม่ เติบโต 10% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร เติบโต 8% ยอดสินเชื่อใหม่ เติบโต 9% และยอดสินเชื่อคงค้างโต 2%


 
นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตโลตัส เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 เติบโตเป็นที่น่าพอใจจากความสำเร็จในการเดินกลยุทธ์ของบริษัท โดยมียอดบัญชีลูกค้าบัตรใหม่ 287,000 บัญชี เติบโต 7% ส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 189,000 ล้านบาท เติบโต 9%, ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6%, ยอดสินเชื่อคงค้าง 140,000 ล้านบาท เติบโต 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 
โดยหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด เรียงตามยอดใช้จ่าย อันดับ1 ได้แก่ประกันภัย อันดับ2 ปั๊มน้ำมัน อันดับ3 หมวดการตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน อันดับ4 Hypermarket/Supermarket และอันดับที่ 5 เป็นหมวดการช้อปออนไลน์ แต่หากดูในส่วนของอัตราการเติบโต จะพบว่าในครึ่งปีแรก หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงที่สุดคือ 1.ตัวแทนท่องเที่ยว เติบโต 29% 2.โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน เติบโต 25%  3.ช้อปออนไลน์ E-Commerce เติบโต 20% 4.อาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 13% และ 5. Hypermarket/Supermarket  เติบโต 12% เทียบจากปีก่อน เพราะฉะนั้น จากตัวเลขจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าจะอยู่ในหมวดชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความไว้วางใจในกรุงศรี คอนซูเมอร์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์การเงินอันดับต้น ๆ ในกระเป๋าสตางค์  

ในส่วนผลประกอบการเมื่อเทียบกับตลาด นายอธิศ เปิดเผยว่า “ถ้าเราเอาผลประกอบการของ Top Line มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นได้ว่าเราทำได้ดีมากในทุกมิติ เช่น ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต เติบโต 9.3% โตกว่าตลาดเกือบ 2 เท่า (ตลาด 4.9%)  ยอด Outstanding Balance  เติบโต 6.7% โตกว่าตลาดเกือบ 3 เท่า (ตลาด 2.7%) ขณะที่อัตราส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ NPL อยู่ที่ระดับ 1.4% ในขณะตลาด 2.9% ซึ่งสูงกว่า 2เท่าตัว สำหรับบัตรเครดิต และ 2.6%    ขณะที่ตลาดอยู่ประมาณ 4.1% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ”

โดยนอกจากผลประกอบการที่เติบโตดีแล้วในครึ่งปีแรก ในปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังคว้ารางวัลยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 11 รางวัล จากทั้งในและต่างประเทศ และไม่ได้รับรางวัลเพียงเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังได้รับรางวัลในหมวด โฆษณา/การตลาด Digital Innovation และการบริการ อย่างที่ทางกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ คว้ารางวัล Goal จากงานจาก Cannes Lions 2024 ของทางคานส์ เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศของวงการทำโฆษณา และยังได้รับรางวัล Credit Card of the Year ที่บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน ได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนผลงานที่โดดเด่นในครึ่งแรกของปี 2567 คือ นวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตกรุงศรี Lady ที่ทำเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ Buy Now Pay Later วงเงินสินเชื่อซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ที่มีการร่วมมือกับ Home Pro ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ HomePay และ First Choice PayPlus การให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำ Digital Tracking และการเปลี่ยนจากการใช้กระดาษ เป็น Non Paper เพื่อเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น โดยกว่า 70 - 80% ทางกรุงศรีได้เปลี่ยนการส่ง E-Statement ไปยังช่องทางออนไลน์แล้วเป็นที่เรียบร้อย

แผนดำเนินงานครึ่งปีหลังต่อจากนี้ของ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

 
ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567 นี้ ทางกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ประเมินว่า จะมีการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้น จากสถาบันการเงินอื่นๆ อีกทั้งด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด รวมถึง Business Landscape ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมาก ฉะนั้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงมีการปรับพันธกิจ ด้วยการมุ่งที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อคงความเป็นผู้นำทางธุรกิจสินเชื่อ และการค้ำประกัน โดยยึดถึงความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลักนั้น เป็นเหตุให้บริษัทเปลี่ยนการวาง Position ตัวเอง จาก Product Based Company หรือเครือบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ ไปเป็น “Payment Facilitator” หรือผู้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในเรื่องของการชำระเงิน ไม่ว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะพร้อมที่ช่วยตอบสนองทุกความต้องการในวิธีการชำระเงิน 
 

 
และจากข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (Competitive Advantage) ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ใน 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่มาก จากการเป็นผู้ประกอบการบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและไฟแนนซ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และการมีหน่วยงานสนับสนุนที่ดีที่สุดในตลาด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานบริการความเสี่ยง หน่วยงาน Operation ฝ่าย IT แม้แต่ฝ่าย PR ก็มีความแข็งแกร่งอย่างมาก เป็นเกราะกำบัง Core Business ของทางบริษัท ให้สามารถเดินทิศทางกลยุทธ์อย่างเต็มกำลังแล้ว จะมีการผนึกกำลังกับ  5 แกนกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้แก่

1. มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อ และสินเชื่อผ่อนชำระ ยกตัวอย่างเช่น บัตรเครดิตกรุงศรี เป็นบัตรเครดิตใบแรกที่ลูกค้าเลือกใช้ และเป็นบัตรเครดิตใบแรกในกระเป๋าสตางค์ บัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรสำหรับการผ่อนชำระ บัตรเครดิต Central The1 สำหรับการใช้จ่ายในเครือเซ็นทรัล และบัตรเครดิต Lotus's Money Plus สำหรับการใช้จ่ายในโลตัส นับเป็นการสร้างความเติบโตในธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 
 
2. ขยายระบบนิเวศพันธมิตร แม้ปัจจุบันทางกรุงศรี จะมีพันธมิตรอยู่ 25,000 รายแล้ว  แต่ก็จะมุ่งขยายเพิ่มออกไปจับกับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ พันธมิตรหลัก ที่ร่วมออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตซึ่งอาจต่อยอดความร่วมมือในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ  และพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำอื่น ๆ ในธุรกิจต่าง ๆ ที่จะร่วมนำเสนอโปรโมชันที่ตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเน้นหมวดร้านอาหาร และแผนผ่อนชำระ (Extended Payment Plan)
 
3. สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน จากการวางจุดยืนเป็น Payment Facilitator  หรือ ผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องการชำระเงิน เฟ้นหาและพัฒนานวัตกรรมทางการชำระเงิน (Payment Solutions) ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เช่น การใช้ Biometrics หรือการผูกบัญชีบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กับอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือ Digital Wallet ฯลฯ
 
4. ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยผสานความร่วมมือให้สอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายทางธุรกิจที่เครือกรุงศรีมุ่งเน้น เช่น ความร่วมมือกับหน่วยงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลของธนาคารผ่านกลยุทธ์ Krungsri One Retail เพื่อเชื่อมโยงให้ลูกค้าบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในเครือกรุงศรีเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
 
5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยวางโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรของหน่วยงานสนับสนุนให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจในอนาคตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สามารถรองรับความเติบโตในอนาคตได้

“กลยุทธ์ทั้งห้าประการนี้เป็นไปเพื่อเสริมศักยภาพของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินไว้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทคาดมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดบัญชีลูกค้าใหม่ 617,000 บัญชี (+10%), ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท (+8%), ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท (+9%) และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท (+2%)” นายอธิศ กล่าวสรุป
 

LastUpdate 29/08/2567 18:20:23 โดย : Admin
10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 10:27 am