ตามที่ ธปท. ได้แถลงข่าวการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 โดยได้ยกระดับการจัดการบัญชีม้า จากระดับ "บัญชี" เป็น "บุคคล" และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งกับบัญชีที่เปิดอยู่แล้วและการเปิดบัญชีใหม่ โดยได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ Central Fraud Registry (CFR) ที่เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินของภาคธนาคาร เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและอายัดบัญชีของผู้ต้องสงสัย มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั้น
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามธนาคารผ่านระบบ CFR แล้ว และจะดำเนินการตามมาตรการด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างเข้มงวด เช่น การระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกบัญชี จนกว่าผู้ที่ถูกระงับบัญชีจะเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น รวมถึงพิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันและจัดการไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่บัญชีม้าจะถูกนำไปสร้างความเสียหายกับผู้อื่นได้อีก
ทั้งนี้ รายชื่อบัญชีที่มีการแจ้งความหรือมีประกาศ ปปง.แล้ว เจ้าของบัญชีที่ถูกระงับการใช้บัญชีต้องประสานกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือ AOC 1441 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนความเกี่ยวข้องทางคดีต่อไป สำหรับกรณีรายชื่อบัญชีที่ธนาคารตรวจพบพฤติกรรมต้องสงสัย แต่ยังไม่มีการแจ้งความกับเจ้าของบัญชี ธนาคารจะดำเนินการตามมาตรการขั้นต่ำ โดยระงับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที เพื่อให้เจ้าของบัญชีมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกมิจฉาชีพนำบัญชีไปใช้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ขอขอบคุณสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ได้เร่งจัดทำแนวปฏิบัติในการจัดการบัญชีเงินฝากที่ถูกใช้ หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีความเข้มข้น เหมาะสมตามระดับความเสี่ยง รวมทั้งพัฒนาระบบ CFR ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลรายชื่อบัญชีต้องสงสัยข้ามธนาคารกัน จากเดิมที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้ามธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพิจารณาเปิดบัญชีใหม่ด้วย ซึ่งจะช่วยดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการดำเนินการของธนาคารและประเมินผลของมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการบัญชีม้าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ และช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อบริการทางการเงินดิจิทัลต่อไป
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ได้ ดำเนินการจัดการบัญชีม้าให้เข้มข้นและต่อเนื่อง โดยร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติของภาคธนาคาร (Industry Standard) ซึ่งเริ่มนำไปปฏิบัติจริงแล้ว สอดคล้องกับแนวทางที่ ธปท. กำหนดให้ภาคธนาคารยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยมุ่งป้องกันและจัดการกับบัญชีม้า เพื่อไม่ให้ระบบธนาคารเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพในการรับส่งเงินที่ได้จากการหลอกลวงประชาชน แนวปฏิบัติดังกล่าว ดำเนินการป้องกันทั้งบัญชีม้าที่จะเปิดใหม่ และการขยายผลตรวจจับบัญชีม้าที่มีอยู่เดิม โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงข้อมูลการแจ้งเหตุผ่านระบบ CFR ของภาคธนาคารและการรับแจ้งความของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแต่ละธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเข้มงวด เช่น พิจารณาระงับการใช้งานบัญชีในรายชื่อนั้นทั้งหมดทันที รวมถึงจะพิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่ โดยปัจจุบันภาคธนาคาร (ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ และธนาคารนานาชาติ) ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวไปแล้วกว่า 15,000 รายชื่อ (ข้อมูลที่ถูกรายงานเข้าระบบ CFR ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 9 เดือน”
ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ขอให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีของตนเป็นบัญชีม้า ทั้งบัญชีเดิมหรือกำลังจะเปิดเพิ่มเติมใหม่ว่า มีโทษอาญาตามกฎหมาย รวมทั้งผลจากมาตรการที่เข้มงวดของภาคธนาคาร เช่น การพิจารณาระงับการใช้งานบัญชีทั้งหมดทันที รวมถึงจะพิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่ ซึ่งจะกระทบการใช้บริการทางการเงินของบุคคลดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข่าวเด่น