ซีเอสอาร์-เอชอาร์
กยท. ลุยน้ำเหนือ แจกถุงยังชีพ-เงินบริจาค พร้อมเยียวยาสวนยางเสียสภาพสวน รายละ 3,000 บ. หลังน้ำลด


การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลุยวิกฤตน้ำท่วมเหนือ แจกถุงยังชีพ-น้ำดื่มสะอาด-เงินบริจาคช่วยเหลือ พร้อมเผยพื้นที่สวนยางเสียหาย จ่อเยียวยาสวนยางเสียสภาพสวนรายละ 3,000 บาท และจัดสรรเงินทุนให้กู้ยืม ดอกเบี้ยต่ำ อีกรายละไม่เกิน 50,000 บาท

 
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. ได้เผยถึงการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ ซึ่งนอกจากบ้านเรือนได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นคาดว่าเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อเนื่องมาจนถึงพื้นที่ภาคอีสานที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางพาราซึ่งประมาณการว่าจะหายไปจากตลาดกว่า 150 ตัน/วัน  อย่างไรก็ตามทันทีที่เกิดเหตุอุทกภัยขึ้น กยท. ได้จัดถุงยังชีพแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยอาหารและยารวมกว่า 800 ชุด น้ำดื่มสะอาดรวม 6,960  ขวด และปัจจัยที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ได้แก่ ข้าวสารถุงละ 5 กก. จำนวน 300 ถุง รวมถึงเครื่องปรุง ผักสด เนื้อสด เพื่อใช้ประกอบการอาหาร และได้เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยนำไปซื้อสิ่งของที่จำเป็น โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ กยท. เร่งเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่สวนยางหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลาย เพื่อเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่สวนยางที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย รวม 5 จังหวัด จำนวน 18,056 ไร่ เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบจำนวน 718 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. 67) หลังจากนี้ กยท.จะเข้าให้ความช่วยเหลือโดยจัดสรรเงินสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง มาตรา 49(5) กรณีสวนยางประสบภัย ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.  ซึ่งในกรณี สวนยางประสบภัยพิบัติจนเสียสภาพสวน (ต้นยางเสียหายจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในคราวต่อไปได้ เกิน 20 ต้น ในแปลงเดียวกัน) กยท. จะมอบเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท
 
 
 
นายสุขทัศน์ กล่าวย้ำว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ให้รีบแจ้งขอรับความช่วยเหลือจาก กยท. ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ภัยพิบัติสิ้นสุด ซึ่งนอกจากการให้ความช่วยเหลือจากกรณีสวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวนแล้ว ยังมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง อีกรายละไม่เกิน 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล ปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรือเป็นทุนในการประกอบอาชีพอีกด้วย
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ย. 2567 เวลา : 21:25:39
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:35 pm