แบงก์-นอนแบงก์
SCB เดินหน้าเป็นผู้นำ Net Zero ตั้งเป้าออกสินเชื่อความยั่งยืน 150,000 ล้านบาท ภายในปี 2025


ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งสู่ธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน (The Leading Sustainable Bank) วางกรอบพันธกิจความยั่งยืน ชูแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” (Live Sustainably) พร้อมผสานศักยภาพเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่จะนำพาพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งในระดับธนาคาร ลูกค้า และสังคม ด้วยหมุดหมายหลักสู่ Net Zero โดยมีเป้าออกสินเชื่อความยั่งยืน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 และ 2.33 ล้านล้านบาทภายในปี 2050

 
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญเข้ากับความท้าทายในเรื่องของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหลังจากที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา โลกก็มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจาก 14 องศาเซลเซียส ไปเป็น 15 องศาเซลเซียส ในปัจจุบัน ซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมาแม้เพียง 1 องศา ก็สร้างปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนานัปการ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดความไม่แน่นอนในปัจจุบัน อย่างในสภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบรูปตัว K (K-Shaped Recovery) คือกลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกำลังซบเซาลง เช่น คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังเผชิญกับปัญหาภาระหนี้สิ้นที่ยังแก้ไม่ขาด ฉะนั้นในฐานะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกของไทย ด้วยการถือกำเนิดเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศในยุคที่ต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคม และยังคงพันธกิจหลักตั้งแต่เริ่มก่อตั้งว่าจะอยู่คู่สังคมไทยต่อไปอีกยาวนาน ด้วยปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้ จึงมีภารกิจที่จะร่วมรักษาระดับของอุณหภูมิโลกอย่างจริงจัง และมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กร การดำเนินงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการปรับนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน 

และด้วยการที่สังคมมีการตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อน รวมถึงภาคธุรกิจทั้งระบบกำลังปรับตัวไปพร้อม ๆ เพื่อรักษาความอยู่รอดขององค์กร ก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมในการสร้างความเป็น Net Zero ได้อย่างมหาศาล อันไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง จากความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน และพยายามที่จะดำเนินชีวิตไปตามทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำ
 
“เมื่อมีเม็ดเงินเข้ามาสู่การทำให้ธุรกิจเปลี่ยนจาก Brown ไปเป็น Green หรือธุรกิจสีเขียว ที่ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แน่นอนว่าจะเพิ่มโอกาสในการสร้างงานให้กับคนในสังคม อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่นลดการใช้กระดาษ หรือใช้ระบบเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ก็จะทำให้กิจกรรมทางอุตสาหกรรม ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมลดลง สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่การดึงดูดเงินลงทุนที่นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อสีเขียว ให้กับธุรกิจที่มีพันธกิจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น หมุนเวียนอยู่ในระบบต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายกฤษณ์ กล่าว

ดังนั้น ทางธนาคาร จึงขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่เส้นทาง Net Zero ด้วยกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่ผสานทั้งพลังคนและเทคโนโลยีร่วมผลักดันลูกค้า พันธมิตร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน อันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ที่สะท้อนตัวตนของธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยธนาคารมี 2 บทบาทหลักที่จะผลักดันให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างราบรื่นคือ 1.บทบาทในการสนับสนุนและจัดสรรเงินทุน เพื่อให้รองรับการดำเนินงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainable finance) พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจ และการร่วมมือเป็นพันธมิตร เพื่อสร้าง Ecosystem ที่ขับเคลื่อนความสำเร็จอย่างยั่งยืน 2.ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ไม่เป็นภาระกับสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคารเข้าสนับสนุนการดำเนินงานความยั่งยืนทุกมิติ

ทั้งนี้ ธนาคารได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะสำคัญ ได้แก่ 
 
1.ออกสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 โดยปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท (โดยนับตั้งแต่ปี 2023) 
 
2.ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 
 
3.เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

 
และเพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายข้างต้น ธนาคารได้วางกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำหรับการส่งต่อความยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 แกน ได้แก่
 
1) Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยง ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ ให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในการสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 ที่พอร์ตสินเชื่อการดำเนินของลูกค้า ภายในปีเดียวกันต้องอยู่ในเกณฑ์ Net Zero เช่นเดียวกัน เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เป็นธนาคารเดียวที่ประกาศโจทย์ดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง บนมาตราวัดที่เข้มแข็ง อย่างเกณฑ์การให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) เพื่อนำพาลูกค้าทุกระดับเดินไปด้วยกัน เช่นในกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง เช่น SMEs จะมีการปูความรู้ความเข้าใจ ว่าทำไมต้องสร้างความยั่งยืน ทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถวัด Carbon Footprint ของตัวเอง และผลักดันให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่มีความเหมาะสม ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์มีหลักสูตรมากมาย โดยเฉพาะหลักสูตรล่าสุด Innovation for Sustainability เป็นหลักสูตรที่ได้รับรางวัลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในการช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม SMEs ให้มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Carbon Footprint และในพอร์ตของลูกค้าสถาบันขนาดใหญ่ ก็มีการร่วมกันสร้าง Ecosystem ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถมองโจทย์ความเป็นสีเขียว และเดินทางไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน

2) Corporate Practice Excellence สร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน ด้วยการกำหนดเป้าหมาย เป็นธนาคารที่ดำเนินงานด้วยความเป็น Net Zero ภายในปี 2030 จากการดำเนินงานภายใน ทั้งทางด้านการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในองค์กรให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทั้ง 20,000 คน ด้วยการสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนภายในองค์กรอย่างจริงจัง โดยมีการวัดผลของการดำเนินงาน พร้อมปลูกฝังความยั่งยืนให้พนักงานธนาคารทุกคนด้วยทักษะและหลักสูตรต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในองค์กรและช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของธนาคารด้วย AI-First Bank และการยกระดับงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับไทยพาณิชย์ 

3) Better Society มุ่งมั่นพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น เมื่อช่วยลูกค้าได้สำเร็จ และเป็นแบบอย่างของการเป็นองค์กรเพื่อความยั่งยืนได้แล้ว ต้องมีการตอบแทนสังคมพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้นเป็นหนึ่งในความยั่งยืนที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสำหรับโลกอนาคต อาทิ การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อให้เกิดเป็นโครงการ Smart University ที่เป็นผู้ริ่เริ่มพัฒนา Digital Ecosystem ให้สถาบันศึกษา  7 แห่ง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ซึ่งมีคณะแพทยศาสตร์ ที่ทางธนาคารเข้าไปดูแลระบบแอปพลิเคชั่น ลงเวลาเรียน จ่ายค่าเทอม จองห้องประชุม และโครงการ Smart Hospital โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ แล้วกว่า 400,000 ราย

 
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ ขยายความถึงเป้าหมาย Net Zero 2050 ของพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนสีเขียวว่า เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต้องแบกรับความเสี่ยงจาก 2 เรื่องหลักด้วยกันคือ 1. Physical Risk ความเสี่ยงเชิงกายภาพ ที่มีโอกาสกระทบกับลูกค้า เน้นหนักในธุรกิจภาคการเกษตร ลามไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว 2.Transition Risk ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่กระทบกับธุรกิจทุกภาคส่วน เพราะจะมีการใช้กฎเกณฑ์ที่มีส่วนกีดกันการแข่งขันระหว่างประเทศ เช่น CBAM มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ดังนั้นด้วยปัญหาที่รอไม่ได้ โจทย์ของธนาคารจึงต้องการลดความเสี่ยงของพอร์ต และการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ จึงประกาศเจตจำนงสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 การดำเนินงานบนหลักของวิทยาศาสตร์ ที่สามารถตรวจวัดได้ และความสามารถในการสร้างความแตกต่าง สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม อย่างการเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กร SBTi (Science Based Targets Initiative) เป็นมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ กว่า 8,800 ธุรกิจชั้นนำทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของ SBTi ที่ตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกในองค์กรดังกล่าว นับเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อความท้าทายและโอกาสของสังคมคาร์บอนต่ำ 

ทั้งนี้ ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็น True partner ให้กับลูกค้าของเราตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบถ้วนในทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนการให้ความรู้และคำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความพร้อมและความต้องการของลูกค้าผ่านการจับมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ ในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยธนาคารดำเนินการผ่านกลยุทธ์เพื่อไปสู่ Net Zero ไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 

 
1) การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target (Net Zero Financed Portfolio Management) ด้วยพื้นฐานของความเข้าใจความต้องการของลูกค้าทุกขนาด ตั้งแต่รายใหญ่จนถึงรายย่อย จะมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับลูกค้าและองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำ Know How และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับการดำเนินงานบริหารพอร์ตของธนาคาร ซึ่งธุรกรรมที่ธนาคารสนับสนุนผ่านสินเชื่อ ณ ปัจจุบันนั้น นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.7 ล้านตันต่อปี (ส่วนทางธนาคารมีการปล่อยก๊าซ 70,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 1%) ดังนั้นภารกิจส่วนใหญ่ของธนาคารคือการช่วยทำให้พอร์ตสินเชื่อเป็น Net Zero ให้ได้ใน 2050 โดยเริ่มจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของพอร์ตและมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซมากที่สุด จึงมีการพยายามเพิ่มวงเงินสินเชื่อกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง (Coal Phasing Out) และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ซึ่งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปรับลงแล้วกว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040

 
2) การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน (Partner for Client’s Sustainability Journey) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกขนาดในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการให้ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงแก่ลูกค้า เนื่องจากปัญหาสำคัญในมุมมองเศรษฐศาสตร์คือ ปกติคนส่วนใหญ่จะคิดแต่เฉพาะผลประโยช์หรือต้นทุนของเราเพียงเท่านั้น อาจไม่ได้ใส่ใจถึงคนรอบข้างและอนาคต นำไปสู่ปัญหาที่บางคนอาจไม่เข้าใจถึงประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกว่า “ทำไมถึงต้องเป็นตัวเราที่เริ่ม” “ทำไมคนอื่นไม่ทำก่อน” รวมถึงการขาดพันธมิตร เพราะการแก้ไขปัญหาโลกร้อนดังกล่าว ต้องมีการร่วมมือด้วยกันทุกภาคส่วน ดังนั้นใน 2 ปัญหาที่กล่าวมา ทางธนาคารไทยพาณิชย์มีความพร้อมที่จะสร้าง Ecosystem ขึ้นมาเพื่อนำพาพันธมิตร หรือลูกค้าในทุกกลุ่มก้าวเข้าสู่สังคมแห่งความยั่งยืนไปด้วยกัน ด้วยการผนึกกำลังกับองค์กรพันธมิตรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพของบุคลากร การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและกระบวนการบริหารงานภายในต่างๆ เพื่อการเป็น True Partner ให้กับลูกค้าบนเส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของลูกค้าที่ต่างกัน
 
· ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) โดยอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะขึ้นกับความสำเร็จของเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายด้าน Sustainability อื่นๆ ของโครงการ ตลอดจนสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทน รวมถึงผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินอื่นๆ เช่น การจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (Sustainable Bond Underwriting) และ เงินฝากยั่งยืน (Sustainable Deposit) ตอบโจทย์ความต้องการลงทุนสีเขียว เป็นต้น  
 
· ลูกค้า SMEs สนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัวธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทความพร้อมและความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ โซลูชันเพื่อธุรกิจรักษ์โลกเพื่อผู้ประกอบการ SMEs (SCB SME Green Finance)  โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรม ที่ธนาคารมีการเปิดตัว Transition Finance ตลอดจนโครงการสินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่ลูกค้าภาคธุรกิจดังกล่าวจะได้นำเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ ไปซื้อรถตัดอ้อย และนำไปให้ลูกค้ารายย่อยหรือเกษตรกรรายย่อยได้ใช้ (เป็นการลดการเผาอ้อยทีนำมาสู่ปัญหา PM 2.5) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ให้สามารถทำได้จริง เกิดผลจริง และต่อยอดธุรกิจได้ ผ่านหลักสูตรระยะยาว งานสัมมนา และงาน Bootcamp รวมทั้งกิจกรรม Business Matching ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น สร้าง Ecosystem สำหรับเอสเอ็มอี ด้วยการความร่วมมือส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการทั้งหน่วยงานราชการ สมาคม สมาพันธ์ และ พันธมิตรทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง


 
ทั้งนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อประเทศ เพราะรายได้จากธุรกิจดังกล่าวคิดเป็น 20% ของ GDP  ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ก็เป็นผู้นำในการบริการสินเชื่อให้กับธุรกิจโรงแรม พอร์ต 1.34 แสนล้านบาท และธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเจ้าของธุรกิจหลายๆราย อาจยังมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว ทางธนาคารจึงให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Net Zero ผ่านรูปแบบการจัดคอร์สอบรม นำพันธมิตรเข้ามาสานสัมพันธ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จูงใจ สิ่งเหล่านี้สะท้อนการทำงานของธนาคารที่มุ่งมั่นที่จะเดินไปสู่ความยั่งยืนร่วมไปกับลูกค้า

· ลูกค้าบุคคล ธนาคารนำเสนอสินเชื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลของธนาคารให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่าน SCB EASY เป็นต้น 

 
3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP)  (EP adoption and implementation) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ริเริ่มการนำ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices ขององค์กรระดับโลกไม่ว่าจะเป็น บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) หรือ ธนาคารโลก (World Bank) มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทางธนาคารก็จะใช้เกณฑ์ดังกล่าว ทำงานร่วมกับที่ปรึกษามืออาชีพในการแนะนำลูกค้าว่า ถ้าจะดำเนินโครงการนี้เพื่อได้มาซึ่งสินเชื่อจะต้องปิดหรือลดความเสี่ยงอย่างไรบ้าง โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินงานตามคำแนะนำของที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท 

“ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มมาแล้วกว่า 117 ปี และจะยังดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนอยู่คู่สังคมไทยไปอีกร้อยปี ด้วยการทำให้ธนาคารอยู่บนเส้นทางของ NET ZERO ทั้งการเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาด สร้าง Commitment ใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจสีเขียว พร้อมสนับสนุนรวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจของลูกค้าทุกกลุ่มเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นทางการเงิน อันส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมให้ได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ดร. ยรรยง กล่าวทิ้งท้าย
 

LastUpdate 04/09/2567 14:11:59 โดย : Admin
10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 4:05 pm