จากงานสัมมนาธุรกิจครอบครัว ภายใต้ธีม Family Business in the globalized Asia ที่ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวจากต่างประเทศ ทั้งเจ้าของธุรกิจ ทายาท ผู้บริหาร ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พร้อมถอดบทเรียนการบริหารครอบครัวและธุรกิจของเอเชียและไทย ที่จัดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งผลวิจัยในต่างประเทศและสถิติสำคัญเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวในตลาดหุ้นไทย สามารถสรุปบทเรียนสำคัญในการปรับตัวของธุรกิจครอบครัว และความน่าสนใจของธุรกิจครอบครัวในสายตานักลงทุน ได้ดังนี้
• เจ้าของผู้เริ่มธุรกิจและทายาทที่ร่วมแสดงความคิดเห็นมีความเห็นตรงกันว่า ธุรกิจครอบครัวควรเริ่มจัดทำธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) และควรเริ่มจัดทำธรรมนูญครอบครัวก่อนครอบครัวจะขยายตัว และการร่วมหารือระหว่างสมาชิกในครอบครัวเพื่อจัดทำธรรมนูญเป็นเวทีเคลียร์ใจของทุกคนในครอบครัว หากคาดว่าไม่สามารถตกลงร่วมกันได้อาจต้องอาศัยบุคคลที่สามในการเป็นตัวกลางเจรจา
• การส่งต่อธุรกิจหรือการสืบต่อทางธุรกิจ เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ (Passion) การส่งต่อความภาคภูมิใจ การสร้างตำนานหรือการสืบต่อมรดกของตระกูล ซึ่งจากเวทีเสวนา รุ่นแรกหรือรุ่นก่อตั้งมองว่าต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้ทายาทและให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างรุ่น กรณีสมาชิกรุ่นใหม่ต้องการขยายธุรกิจใหม่ควรทำในลักษณะตั้งกองทุนพิเศษแยกออกมาธุรกิจเดิม
• การอยู่รอดระยะยาวของธุรกิจครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการบริหารจัดการตามขนาดธุรกิจและการเชื่อมโยงธุรกิจกับท้องถิ่น และการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจครอบครัวในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งนอกจะช่วยเรื่องการระดมทุนยังช่วยให้บริษัทมีชื่อเสียงในสายตาคู่ค้า การดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับบริษัท เป็นต้น
• บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจคัดสรรหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนของนักลงทุน เนื่องจาก
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเติบโตสูงทั้งในด้านสินทรัพย์และรายได้ โดยในช่วงปี 2560 - 2566 สินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 12.9%
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจะจ่ายเงินปันผลเพื่อเป็นรายได้ของสมาชิกครอบครัว โดย 71.0% ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Dividend Universe ทั้งหมด เป็นบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีส่วนในการส่งต่อความยั่งยืน โดย 62.3% ของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินว่าเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings”
จากงานสัมมนาธุรกิจครอบครัว ภายใต้ธีม Family Business in the globalized Asia ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวจากต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจ ทายาท ผู้บริหาร ตลอดจนที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พร้อมถอดบทเรียนการบริหารครอบครัวและธุรกิจของเอเชียและไทย ที่จัดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ในงานนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ต่างยอมรับสุภาษิตจีนที่เตือนไว้ว่า “ความมั่งคั่งไม่เกินสามรุ่น” ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะธุรกิจชาวจีนเท่านั้นแต่เกิดขึ้นกับธุรกิจทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าการจัดการธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกทั้งมีความต่างกันในแต่ละครอบครัว
ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวแนะให้ธุรกิจครอบครัวเริ่มจัดทำธรรมนูญครอบครัวก่อนครอบครัวจะขยายตัว และการร่วมหารือเพื่อจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นเวทีเคลียร์ใจของทุกคนในครอบครัว
จากเวทีสัมมนาธุรกิจครอบครัวฯ ทั้งเจ้าของผู้เริ่มธุรกิจและทายาทที่ร่วมแสดงความคิดเห็น มีความเห็นตรงกันว่า ธุรกิจครอบครัวควรเริ่มจัดทำธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวที่ตกลงเกี่ยวกับการวางหลักการ กฎ กติกา ของสมาชิกครอบครัว รวมถึงการกำหนดบทลงโทษกรณีสมาชิกไม่ปฏับัติตามธรรมนูญครอบครัว อาทิ การตัดสวัสดิการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญครอบครัวเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างสมาชิกไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ส่วนรายละเอียดในธรรมนูญครอบครัว ควรประกอบด้วยความเป็นมา เจตจำนงค์ครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสมาชิก โครงสร้างของธุรกิจครอบครัว แผนการสืบทอดทายาทของธุรกิจ เป็นต้น
ธุรกิจครอบครัวที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมองว่า บางครอบครัวไม่รีบทำเพราะกังวลว่าเมื่อหารือกันแล้วจะทะเลาะกัน แต่ควรมองว่า การร่วมหารือเพื่อจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นเวทีเคลียร์ใจ ช่วยให้สมาชิกครอบครัวทุกคนได้สื่อสาร ทบทวนประเด็นค้างคาใจและหาข้อตกลงร่วมกัน และควรลงมือทำตั้งแต่ครอบครัวยังไม่ขยายหรือยังไม่มีประเด็นขัดแย้งกัน หรือหากคาดว่าไม่สามารถตกลงร่วมกันได้อาจต้องอาศัยบุคคลที่สามในการเป็นตัวกลางเจรจา โดยบุคคลที่สามนี้ควรเป็นบุคคลที่สมาชิกครอบครัวทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เป็นบุคคลที่เป็นกลางหรือหากกรณีเป็นการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ ควรเป็นการจัดจ้างโดยกองกลาง
การสื่อสารระหว่างรุ่น มีส่วนสำคัญในการส่งต่อธุรกิจ: การสื่อสารจะทำให้เคลียร์ปัญหา สร้างแรงบันดาลใจ สืบต่อ Passion
การส่งต่อธุรกิจหรือการสืบต่อทางธุรกิจไม่ได้หมายความถึงการส่งต่อทรัพย์สินต่างๆ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงการส่งต่อใจรักในงาน (Passion) การส่งต่อความภาคภูมิใจ การสร้างตำนานหรือการสืบต่อมรดกของตระกูล ซึ่งจากเวทีเสวนารุ่นแรกหรือรุ่นก่อตั้งมองว่า ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้ทายาท ทั้งเรื่องการตรงต่อเวลา การมีความซื่อสัตย์ และต้องทำความเข้าใจว่า ทายาทรุ่นต่อๆ มาก็มีแนวคิดเป็นของตนเอง ขณะที่ทายาทรุ่น 2 และ 3 นอกจากเลือกทำงานในสิ่งที่รักแล้วบางครั้งก็ต้องฝึกให้รักในสิ่งที่ทำ หาความรู้ หาแรงบังดาลใจและสร้างความภาคภูมิใจการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว และที่สำคัญต้องรักษาพื้นฐานธุรกิจที่สำคัญ นั่นคือ พนักงานที่มีความชำนาญพิเศษหรือพนักงานที่มีประสบการณ์ และกรณีสมาชิกรุ่นใหม่ต้องการขยายธุรกิจใหม่ควรทำในลักษณะตั้งกองทุนพิเศษแยกออกมาจากธุรกิจเดิม
การอยู่รอดระยะยาวของธุรกิจครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการบริหารจัดการตามขนาดธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจกับท้องถิ่น
จากงานวิจัยของ Professor John A. Davis ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว (family enterprise portfolio programs) ที่ MIT Sloan School of Management และเป็น ผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นปรมาจารย์ในด้านธุรกิจครอบครัวและความมั่งคั่งของครอบครัว ชี้ให้เห็นว่า ขนาดของธุรกิจไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่จะรับประกันว่า ธุรกิจนั้นๆ จะสามารถอยู่รอดในระยะเวลายาว โดยจากการศึกษา 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา (100 อันดับแรกของ Forbes) ในช่วงเวลา 95 ปี พบว่า 99 บริษัท จาก 100 บริษัท ปิดกิจการหรือล้มเลิกกิจการไป ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Professor Hidekazu Sone president of the Japan Academy of Family Business and executive secretary of the Entrepreneur Research Forum ที่ใช้เวลานานกว่า 5 ปีในการสำรวจข้อมูลภาคสนามของบริษัทที่มีอายุยาวนานที่ดำเนินกิจการมาได้กว่า 400 ปี ทั่วโลก พบว่า
• 80% ของบริษัทที่มีอายุการดำเนินงานยาวนานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีมูลค่ากิจการ ไม่เกิน 1,000 ล้านเยน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่รอดระยะยาว คือ "การบริหารจัดการตามขนาด" (size-oriented management) ไม่ใช่การมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่หรือให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจ แต่เป็นการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจของตนเอง แทนที่จะขยายธุรกิจโดยไม่ระมัดระวัง
• บริษัทที่มีอายุการดำเนินงานยาวนานจะมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง มีการส่งต่อความภาคภูมิใจในฝีมือและทักษะที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และทำงานอย่างซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง และมีระเบียบวินัย
• มีข้อสังเกตว่า บริษัทหลายแหล่งที่มีอายุการดำเนินงานยาวนานทั้งในญี่ปุ่นและเยอรมัน มีความเหมือนกัน คือ การมีความสัมพันธ์อันดีกับท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจ
• บริษัทในญี่ปุ่น อาจอยู่รอดได้โดยการจำกัดจำนวนทายาทให้เหลือเพียงคนเดียว เพื่อป้องกันการกระจายทรัพย์สินและการก่อหนี้ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้สมาชิกครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นมิตรต่อกันตลอดหลายชั่วอายุคน และในญี่ปุ่นมักใช้ระบบการรับบุตรบุญธรรมแทนหลักการสายเลือดโดยตรง และมีการถ่ายทอดกฎเกณฑ์ของครอบครัวอย่างละเอียดไปยังลูกหลาน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ขนาดของธุรกิจไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการอยู่รอดระยะยาวของธุรกิจครอบครัว แต่การอยู่รอดระยะยาวของธุรกิจครอบครัว ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับขนาดกิจการและมีความเชื่อมโยงธุรกิจกับท้องถิ่น
การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกทางเลือกให้ธุรกิจครอบครัว
จากเวทีเสวนา ทั้งผู้ก่อตั้งและทายาทซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจครอบครัวให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นทางรอดเดียวของธุรกิจครอบครัว แต่การเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจครอบครัวในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งก่อนจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีมุมมองว่าเพียงเพื่อต้องการระดมทุนขยายธุรกิจ แต่ในข้อเท็จจริงพบว่า การเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ
• สามารถขอสินเชื่อสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถระดมทุนได้ในตลาดรองได้ ทำให้บริษัทมีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินทุนได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
• มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะเวลาประสานงานกับต่างประเทศ
• เพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัทในสายตาของคู่ค้า (Supply Chain) โดยเฉพาะได้รับความไว้วางใจจาก Supply Chain หรือคู่ค้าในต่างประเทศ
• ดึงดูดบุคลากรที่คุณภาพ
• มีแรงผลักดันในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถจัดหามืออาชีพที่มีไฟมาช่วยทำงานและท้าทายเป้าหมาย
• มีความระมัดระวังในการดำเนินกิจการหรือเปลี่ยนแปลงองค์กร เนื่องจากอยู่ในสายตานักลงทุน
• การดำเนินงานตามหลัก ESG ได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ปฏิบัติตามได้ง่าย
• มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในสาขาที่หลากหลายในตลาดทุน ซึ่งเป็นตำรานอกห้องเรียน
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุน
จากการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) จากข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทที่มีการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 จำนวน 852 บริษัท และพบว่า 575 บริษัท หรือ 67% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยจัดเป็น “ธุรกิจครอบครัว” (ตามรายละเอียดที่นำเสนอแล้วใน SET Note ฉบับที่ 9/2567) และเมื่อพิจารณาข้อมูลทางการเงินและข้อมูลต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตารางที่ 1 พบว่า บริษัทที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีการเติบโตของรายได้รวมและสินทรัพย์รวมค่อนข้างสูง ดังนั้น นักลงทุนอาจพิจารณาทางเลือกหนึ่งของการลงทุน ตามรายละเอียด ดังนี้
ในช่วงปี 2560 - 2566 สินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 12.9%
จากการศึกษาข้อมูลการเงินของบริษัทจดทะเบียน จำนวน 830 บริษัท โดยแบ่งบริษัทจดทะเบียนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว และ 2) บริษัทจดทะเบียนที่ไม่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีสินทรัพย์รวมในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด (ภาพที่ 1) โดยในช่วงปี 2560 - 2566 สินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 47.0% ของสินทรัพย์รวม หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate) ปีละ 12.9%
และในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเติบโตดีกว่ากลุ่มบริษัท จดทะเบียนที่ไม่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งสังเกตได้ว่าในช่วงปี 2565 - 2566 ที่กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด คือ 51.9% ในปี 2565 และ 52.3% ในปี 2566
เมื่อพิจารณาความสามารถในการสร้างรายได้ จากรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว พบว่า ปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีรายได้รวมสูงถึง 8.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 45.6% ของรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด หรือเติบโตปีละ 9.4% ในช่วงปี 2560 - 2566
เมื่อพิจารณารายได้รวมในช่วงปี 2560 - 2566 ตามภาพที่ 2 พบว่า สัดส่วนรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวต่อรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนรวมของทั้งตลาด ในช่วงปี 2560 - 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 45.7% หรือในช่วงเวลาดังกล่าวรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate) ปีละ 9.4% และหากพิจารณาเฉพาะรายได้รวมจากงบการเงินปีล่าสุด คือ รายได้รวมปี 2566 พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีรายได้รวมสูงถึง 8.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 45.6% ของรายได้รวมใน 2566 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด
ส่วนหนึ่งของการเติบโตของรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมาจากการสร้างรายได้ในต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2566 พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว 295 บริษัทจากทั้งหมด 559 บริษัทมีรายได้จากต่างประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทั้งหมดที่มีรายได้ต่างประเทศ (428 บริษัท) โดยบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีรายได้รวมจากต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.1% ของรายได้รวมจากต่างประเทศของทุกบริษัท จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
ในด้านกำไรสุทธิ พบว่า ปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีกำไรสุทธิรวม 409,029 ล้านบาท คิดเป็น 43.4% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด หรือเติบโตปีละ 1.6% ในช่วงปี 2560 - 2566
เมื่อพิจารณารายได้รวมในช่วงปี 2560 - 2566 ตามภาพที่ 3 พบว่า สัดส่วนกำไรสุทธิรวมของบริษัท จดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวต่อกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนรวมของทั้งตลาด ในช่วงปี 2560 - 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 52.4% หรือในช่วงเวลาดังกล่าวรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate) ปีละ 1.6% จะเห็นได้ว่า กำไรสุทธิฯ เติบโตค่อนข้างต่ำเนื่องจากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวค่อนข้างผันผวนตามสถานการณ์ โดยเฉพาะในปี 2563 ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมทั้งตลาดลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis: GFC) และค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น จึงทำให้อัตราการเติบโตต่ำเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2560
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ในปี 2563 ที่กำไรสุทธิในภาพรวมของตลาดปรับลดลงมาก แต่กลับพบว่า กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวกลับมีสัดส่วนสูงถึง 91.5% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนรวมของทั้งตลาด ทั้งนี้จากข้อมูลเบื้องต้นนี้อาจสะท้อนได้ว่าในช่วงวิกฤติ บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวสามารถปรับตัวดีกว่าบริษัทจดทะเบียนที่ไม่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว
หากเฉพาะกำไรสุทธิรวมปี 2566 พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีกำไรสุทธิรวม 409,209 ล้านบาท คิดเป็น 43.4% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า บริษัทที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีการเติบโตของรายได้รวมและสินทรัพย์รวมค่อนข้างสูง และมีการยืดหยุ่นในการสร้างกำไรในช่วงวิกฤติ ดังนั้น นักลงทุนอาจพิจารณาทางเลือกหนึ่งของการลงทุน
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นสม่ำเสมอ
ในฐานะนักลงทุนที่คัดสรรหลักทรัพย์เพื่อลงทุน อาจพิจารณาบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุน ทั้งนี้อาจข้อสมมติฐานว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจะจ่ายเงินปันผลเพื่อเป็นรายได้ของสมาชิกครอบครัว ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนเหล่านี้จึงควรมีลักษณะจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันต้องมีการเก็บผลกำไรไว้บางส่วนเพื่อส้รางการเติบโตในอนาคต
เมื่อนำรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเทียบกับรายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่ม Dividend Universe ที่ได้นำเสนอไปแล้วใน “SET Note ฉบับที่ 3/2567 เรื่อง หุ้นปันผล อีกทางเลือกในการลงทุนระยะยาว” และผลการคัดเลือกหุ้นปันผล ที่เปิดเผยรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มีการจ่ายเงินปันทุกปี มีสภาพคล่องเมื่อพิจารณาจากการมีกำไรสุทธิทุกปีและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกตลอด 7 ปีล่าสุด และมีระดับบรรษัทภิบาลในปีล่าสุดอยู่ในระดับดีขึ้นไป (กลุ่ม Dividend Universe ชุด 7 ปี) พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจำนวน 76 บริษัทจัดอยู่ในรายชื่อบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Dividend Universe ชุด 7 ปีซึ่งมีทั้งหมด 107 บริษัท หรือคิดเป็น 71.0% ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Dividend Universe ทั้งหมด โดยบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 4.74% ให้ผลตอบแทนในระดับใกล้เคียงกับการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่
ดังนั้น อาจจะได้ว่า บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนจะใช้ในการคัดกรองเลือกสรรหุ้นในการลงทุน
บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวมีส่วนในการส่งต่อความยั่งยืน โดย 62.3% ของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินว่าเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” เป็นธุรกิจครอบครัว
การเป็นธุรกิจครอบครองมีผลต่อการสร้างกำไรในอนาคต สอดคล้องกับ CSA Handbook 2023 Corporate Sustainability Assessment ที่เป็นแนวทางในการถามตอบข้อมูลเพื่อประเมินความยั่งยืนขององค์กร (CSA) จากข้อมูล โดยนำมาคํานวณ S&P Global ESG Score เพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งมีคำถามข้อหนึ่งเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของสมาชิกครอบครัว (Family Ownership) ที่มีหลักฐานจากงานวิจัยเชิงวิชาการว่า “การเป็นเจ้าของครอบครัวมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับกําไรจากการดําเนินงานในอนาคต” ดังนั้น จึงมีการพิจารณาจากการที่บริษัทนั้นๆ มีสมาชิกในครอบครัวผู้ก่อตั้งอย่างน้อยหนึ่งคน ถือครองหุ้นมากกว่า 5% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถือครองส่วนตัวหรือถือครองหุ้นผ่านบริษัทหรือองค์กรอื่น ๆ ก็จะถือว่า “การเป็นเจ้าของครอบครัวอย่างมีนัยสําคัญ” (Significant Family Ownership)
สำหรับในตลาดหุ้นไทยได้จัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” โดยประเมินบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ครอบคลุมคำถามในมิติด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ 15 กรกฎาคม 2567 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินเป็น หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings จำนวน 191 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 11.65 ล้านล้านบาท คิดเป็น 73% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด โดยบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ตามภาพที่ 4
ภาพที่ 4 รายชื่อบริษัทจดทะเบียนใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings”
ที่มา: SET Research ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ภาพที่ 5 บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีรายชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings”
ที่มา: SET Research ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และเมื่อพิจารณาบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวกับรายชื่อบริษัทจดทะเบียนใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ตามภาพที่ 5 พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวจำนวน 119 บริษัท ที่มีรายชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” หรือประมาณ 62.3% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่มีรายชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 49% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings”
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในระยะยาว สมาชิกครอบครับต้องเปิดใจ เคลียร์ใจ เริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญครอบครัว อาจจัดทำกันเองหรืออาศัยการดำเนินงานผ่านบุคคลที่สามที่ได้รับความเชื่อใจจากสมาชิกครอบครัวทั้งหมด เพื่อกำหนดกติกาครอบครัว ต้องพยายามสื่อสารกันให้มากขึ้นระหว่างแต่ละรุ่น ปรับการบริหารในรูปแบบ "การบริหารจัดการตามขนาด" และการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจครอบครัวในการขยายช่องทางการระดมทุน การสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า การดึงดูดบุคลากรที่คุณภาพเข้ามาร่วมงานกับบริษัท เป็นต้น
ขณะที่นักลงทุนอาจพิจารณาลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว จากทั้งความสามารถในการสร้างรายได้ สร้างการเติบโตของกิจการเมื่อมองจากสินทรัพย์รวม อีกทั้งมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และมีโอกาสในการดำเนินงานธุรกิจในระยะยาวด้วยความยั่งยืน โดยนักลงทุนอาจพิจารณาสิ่งสำคัญประการหนึ่งด้วย คือ การส่งต่อแรงบันดาลใจ หรือ การส่งต่อแนวคิดไปสู่ทายาทซึ่งจะแสดงให้เห็นเจตจำนงของครอบครัวในการที่จะดำเนินธุรกิจนั้นๆ ต่อไป ซึ่งนักลงทุนอาจสังเกตแนวคิดและประสบการณ์ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวได้จากบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่นำเสนอในงานสัมมนาต่างๆ อาทิ งาน Opportunity Day เป็นต้น
ข่าวเด่น