ในตอนนี้ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งเชียงราย พะเยา สุโขทัย ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก มาจนถึงนครสวรรค์ ได้ส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประเมินอุทกภัยครั้งนี้ว่าเป็นในลักษณะของน้ำไหลผ่าน ที่ทำให้เกิดการท่วมขัง ซึ่งสร้างความเสียหายประมาณ 6,000 - 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนของเศรษฐกิจคือ 0.02 - 0.03% ของ GDP แม้สัดส่วนเพียงเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมที่มีโรงงานตั้งบนพื้นที่ที่น้ำท่วม หรือภาคการเกษตร ที่อ้างอิงรายงานจากกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรนั้น เกษตรกรไทยได้รับความเสียหายกว่า 112,049 ราย คิดเป็นพื้นที่เสียหาย 701,525 ไร่ ส่วนภาคการประมง ได้รับความเสียหาย 7,405 ราย คิดเป็นพื้นที่เสียหาย 5,638.57 ไร่
โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นทุก ๆ 1 รายนั้น เทียบได้กับ 1 ครัวเรือนที่พวกเขาต้องดูแลเลี้ยงปากท้องกันอีกหลายคนในครอบครัว ฉะนั้นภาพความเสียหายที่เกิดจึงมีความรุนแรงมากกว่าเปอร์เซ็นต์สัดส่วนความเสียหายต่อ GDP ข้างต้นมากนัก หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านสภาพคล่องทางการเงิน ความเสียหายก็จะยิ่งลุกลามบานปลายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ
ดังนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตทางการเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ซึ่งได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท และขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดย ณ ตอนนี้ ก็ได้มีมาตรการจากภาคสถาบันการเงินออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยแบ่งออกเป็นจาก สถาบันการเงินของรัฐ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
สถาบันการเงินของรัฐ
1.ธนาคารออมสิน
-พักชำระหนี้เงินต้น สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
-ลดดอกเบี้ย 50% จำนวน 3 เดือน
-มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่
1.โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.6% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 เดือน ปลอดชำระเงินงวดใน 3 เดือนแรก และ 2.โครงการสินเชื่อเคหะผู้ประสบภัย วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 100% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% ต่อปี
2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- มาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูเกษตรกร วงเงิน 20,000 ล้านบาท ได้แก่ การลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และ ธ.ก.ส. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าใหม่-ปัจจุบัน เพื่อซ่อมแซมอาคารบ้านพังเสียหายจากอุทกภัย วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 2% ต่อปี
3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
-ลดเงินงวด 50% เพื่อให้สามารถส่งผ่อนชำระค่าบ้านได้อยู่
-ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% ต่อปีเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก
-มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
-มาตรการประนอมหนี้
-มาตรการสินไหมเร่งด่วน
4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank)
-พักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
-เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นชั่วคราวสูงสุด 20% ของวงเงินเดิม
-เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระเงินกู้ระยะสั้นได้นานสูงสุด 3 ปี และระยะยาวสูงสุด 7 ปี
-ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.50% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก
-พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 1 ปี
6. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
-มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปีนี้
ธนาคารพาณิชย์
1.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
-สำหรับลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการ SSME มีการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจ อีกทั้งยังลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 100% ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
- สำหรับผู้ประกอบการ SME พักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 6 เดือน พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิมและไม่เกิน 10 ล้านบาท และออกวงเงินสำหรับปรับปรุง ซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
2.ธนาคารกรุงไทย (KTB)
- ลดค่างวดจ่ายหนี้ 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SSME
- สำหรับธุรกิจ SME ให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้ พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้น และ/หรือ พักชำระดอกเบี้ยบางส่วน ขยายระยะเวลาสัญญา/ปรับตารางผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น
3.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
- พักชำระเงินต้น ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน สำหรับสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิตกสิกรไทย สินเชื่อเงินด่วน Xpress Loan และบัตรเงินด่วน Xpress Cash
- ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% ระยะเวลา 6 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อน 3 เดือน สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
- สำหรับลูกค้าธุรกิจ พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือนของวงเงินสินเชื่อเดิม ด้านสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ดอกเบี้ย 3.5% ใน 2 ปีแรก โดยให้พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน
และนอกจากฝั่งที่เป็นธนาคารแล้ว ด้านภาคเอกชน ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ผนึกกำลังกับบริษัทในเครือ ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ส่งมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงวัตถุดิบอาหาร ส่งมอบให้โรงครัวต่าง ๆ ในการนำไปประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่งทีมสนับสนุนเพื่อลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ด้วย อีกทั้งทาง CP ยังมีการตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย
ข่าวเด่น