เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : ค่าแรงขั้นต่ำเตรียมขึ้น 400 บาท/วัน 1 ต.ค. 67 นี้ ผู้ประกอบการรับมืออย่างไรดี?


นโยบายเรือธงของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ก็เป็นอีก 1 นโยบายที่ทางพรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง อีกทั้งยังมีประกาศจากทางรัฐบาลชุดเก่าดังกล่าวแล้วว่า จะเริ่มปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 5 ต่อ 4 ตุลาการเสียงข้างมากให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้นางสาว แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแทน ทำให้เกิดการหยุดชะงักชั่วคราวของนโยบาย และเกิดความไม่แน่นอนว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะยังเดินหน้านโยบายการปรับค่าแรงขึ้นต่อหรือไม่

แต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแพทองธาร เป็นรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีในชุดใหม่ส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐามาก่อน ซึ่งรวมถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลก่อนหน้า ก็ยังคุมกระทรวงแรงงานเช่นเดิมในรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท (นโยบายของกระทรวงแรงงาน) เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะยังคงเดินหน้าตามเดิม

โดยล่าสุดนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้เปิดเผยถึงการเดินหน้านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่า ได้ส่งนโยบายของกระทรวงแรงงานดังกล่าว ไปประกอบกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลผ่านทางพรรคร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และจะมีการประกาศใช้ตามเดิมในวันที่ 1 ต.ค. 2567 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมีขั้นตอนการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ในเรื่องของบางจังหวัดที่ไม่อาจปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท อีกทั้งแต่ละจังหวัดได้มีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันระหว่าง 2-42 บาท ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางจะมีการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามเห็นสมควรอีกครั้งหนึ่ง

ผู้ประกอบการรับมืออย่างไรดี กับต้นทุนที่สูงขึ้น?

หากวิเคราะห์ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน ตามข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม จะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต การค้า และการบริหารและการบริการเป็นหลัก โดยลูกจ้างเหล่านี้กระจายอยู่ในธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นหลัก (หากไม่นับภาคการผลิต) ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เสียส่วนใหญ่ ทำให้นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จะยังมีการยกเว้นสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพราะขณะนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงผลกระทบจากการที่มีสินค้าราคาถูกจากจีน และสินค้านำเข้าผิดกฎหมายเข้ามาตีตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีในส่วนของอุทกภัยที่เข้ามา จึงมีการยกเว้นให้ก่อน

นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พิจารณาลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง 1% เป็นระยะเวลา 12 เดือน รวมถึงการลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ 1.5% และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบส่วนหนึ่งได้จากการขึ้นค่าแรง 400 บาท ซึ่งต้องรอให้รัฐบาลแพทองธารแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเข้าปฎิบัติหน้าที่ก่อนภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ ถึงจะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า กระทรวงการคลังอาจมีการออกมาตรการภาษี เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยอาจอยู่ในรูปแบบที่ให้นำค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เป็นการชั่วคราว โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งคงต้องรอติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คงเห็นทิศทางช่วยเหลือจากภาครัฐที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ส่วนในตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ คือการเตรียมตัวบริหารต้นทุนให้รอบคอบ วางแผนการตลาดด้วยการใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาบุคลากรของตนเองให้สามารถดูแลและจัดการได้อย่างครอบคลุม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการหมุนเวียนของกระแสเงินสดให้มั่นคงเอาไว้ก่อน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2567 เวลา : 19:54:21
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:23 am