เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดัน หลังสถานการณ์ในลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลาย ขณะที่ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกกดดันความต้องการใช้น้ำมัน"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 ก.ย. - 13 ก.ย. 67) 
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันเนื่องจากสถานการณ์การในลิเบียที่ทำให้อุปทานน้ำมันดิบหยุดชะงักมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีน และสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับหดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม OPEC+ มีแนวโน้มชะลอการเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 67 จากราคาน้ำมันดิบปรับลดลง แตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 67 ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
ตลาดน้ำมันดิบคลายความกังวลเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบลิเบียที่หยุดชะงักจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยล่าสุดลิเบียตกลงที่จะแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่จากการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UN) เพื่อเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยหาทางออกของปัญหาการเมืองในประเทศเนื่องจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศเหตุสุดวิสัยในแหล่งน้ำมันเอลฟีล เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ล่าสุด Bloomberg เผยลิเบียผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปริมาณการผลิตในเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ ส.ค. 67 อยู่ที่ 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจโลกเนื่องจากล่าสุดตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 67 ลดลงสู่ระดับ 49.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4 สวนทางกับผลสำรวจ Reuters ที่คาดว่าสูงขึ้นแตะที่ระดับ 49.5 โดยเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง 6 เดือน ขณะที่ ISM เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 67 ที่ระดับ 47.2 ซึ่งยังคงอยู่ในสภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ว่าฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ค. 67 ที่ระดับ 46.8 บ่งชี้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมันดิบจีน และสหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลัง S&P Global/Hamburg Commercial Bank (HCOB) เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้น (Final Composite Purchasing Managers’ Index: PMI) ของสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.4 จุด เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และมีคำสั่งซื้อในภาคการผลิตสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ทั้งนี้ ดัชนีสูงกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะขยายตัว ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น
 
ตลาดจับตาแผนการปรับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงไม่แน่นอน โดยคาดการณ์ว่าจะมีการชะลอแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน จากแผนเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือน ต.ค. 67 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกเลิกการลดกำลังการผลิตรวม 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของกลุ่มจะยังคงลดกำลังการผลิตไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2568 ขณะที่ Reuters เผยกลุ่ม OPEC (12 ประเทศ) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 67 ลดลง 0.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 26.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยความสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมันดิบลิเบีย
 
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 67 และอัตราการเติบโตค่าจ้างแรงงานไตรมาส 2 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน เดือนส.ค. 67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิตจีนเดือน ยอดขายปลีกเดือน อัตราการว่างงาน เดือน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 ก.ย.- 6 ก.ย. 67)
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 
 
ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 7.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจาก สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลายลง ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบลิเบียคาดว่าจะกลับมาผลิต และส่งออกได้ตามปกติ ขณะที่ตลาดคาด OPEC+ จะชะลอแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ โดยคาดว่าจะเพิ่ม 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 67 อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของกลุ่มจะยังคงลดกำลังการผลิตไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2568


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2567 เวลา : 11:04:45
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:36 pm