ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าไฮเทคมากขึ้น
ในวันที่โลกมีการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ภายใต้แรงกดดันที่รุมเร้าจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์รักษ์โลก การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกลุ่ม Data center แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการค้าและนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่ โดยจากข้อมูลของ Trade map พบว่า ในปี 2022 เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรรวมและเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดโลกต้องการมากที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 1.194 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2012 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มความต้องการสินค้าหรืออุปกรณ์ไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยบางส่วนสามารถเติบโตเกาะกระแสไปกับอุปสงค์โลก แต่ยังคงมีสินค้าบางหมวดที่ความต้องการในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง
จากข้อมูลของ Trade map ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2012-2022) ไทยมีสัดส่วนการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่ม Power electronics ซึ่งเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น สะท้อนได้จากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และแผง/ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าของไทยไปตลาดโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 0.6% และ 1.5% ในปี 2012 มาอยู่ที่ 1.7% และ 3.1% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ในปี 2022 ตามลำดับ สวนทางกลับสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ที่มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 0.6% ในปี 2022 จาก 1% ในปี 2012 สะท้อนว่าการส่งออกกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ของไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
SCB EIC มองว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงเติบโตน้อยกว่าคู่แข่ง โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยจะพบว่าสินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ HDD เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงวงจรรวม ซึ่งสินค้า 2 ลำดับแรกอย่าง HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและมาเลเซีย จะพบว่าประเทศเหล่านั้นหันมามุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น เช่น ชิป สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยขยายตัวได้จำกัดเนื่องมาจาก 1) การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือสินค้าไฮเทคของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง โดยพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีของประเทศในอาเซียนและไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 24% และ 19% ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงปี 2015-2023 โดยในปี 2023 มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาเลเซียครองสัดส่วนการลงทุนสูงสุดที่ 53% รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม 15%, สิงคโปร์ 14% และไทย 13% ของสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด 2) การขาดการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำ โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและขั้นปลาย โดยในปี 2022 พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกอุปกรณ์ชิประดับต้นน้ำและกลางน้ำเพียง 1.7% ของสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยอย่างมาเลเซียและเวียดนามที่มีสัดส่วนการส่งออกชิปอยู่ที่ราว 5% และ 4% ตามลำดับ 3) การขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยจากผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD พบว่า ปี 2023 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านองค์ความรู้ดิจิทัลและเทคโนโลยีอยู่ในลำดับที่ 41 จากประเทศสมาชิกทั้งหมดที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 63 ประเทศ และจัดอยู่ในอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมทั้งหมด 5 ประเทศ
ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่มี 3 กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่น่าจับตา
จากแนวโน้มความต้องการและเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป SCB EIC ได้มีการจำแนกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1) กลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ที่เรามองว่าไทยมีแนวโน้มจะมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องปรับอากาศมากขึ้นจากฐานการผลิตเดิมของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ขยายการลงทุนในไทย รวมถึงผู้เล่นสัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 2) กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและมีโอกาสปรับไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มแผงวงจรรวม เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรพิมพ์ ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดโลกมากขึ้นจากความต้องการในกลุ่ม EVs และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมชิป เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย กลุ่มคอมพิวเตอร์และการจัดเก็บข้อมูลที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงลึก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มไฟฟ้ากำลังอย่างหม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟ/สายเคเบิล ที่มีความต้องสูงขึ้นต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยจากข้อมูลของ Bloomberg ระบุว่า ในปี 2023 การผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก 30% หรือราว 1 ใน 3 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดมาจากแหล่งการผลิตพลังงานหมุนเวียน 3) กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงและ/หรือเป็นสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงหรือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่ขยายตัวต่ำจากแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มสินค้าไฮเทคอย่างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียนเนื่องจากไทยยังคงขาดความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่มีความซับซ้อนและแรงงานที่มีทักษะสูง ขณะเดียวกัน ยอดขาย HDD ในตลาดโลกยังคงชะลอลงจากความต้องการ HDD รุ่นเก่าที่ลดลงต่อเนื่อง
ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรักษาโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
SCB EIC มองว่าการที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นของอาเซียนได้นั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาในสิ่งที่ขาดโดยจะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ ดังนี้ 1) การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีอันตราย เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2) การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง จะต้องมีการส่งเสริมการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ จะต้องมีการส่งเสริมในเรื่องการ Upskill และ Reskill ให้กับกลุ่มแรงงานเดิมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่จะสามารถนำไปพัฒนาการทำงานในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น 3) การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขยายการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำมากขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงการปรับปรุงเงื่อนไขการทํางานสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกลุ่มบริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพลังงานไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI และการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ครอบคลุมถึงกิจการอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในอนาคต
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง SCB EIC มองว่าไทยยังมีความหวังในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันเพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งได้ ด้วยการรักษาฐานการผลิตสินค้าเดิมที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ ลดการลงทุนในสินค้าโลกเก่า เน้นขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ครอบคลุมกิจการอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนต่อไป
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยพร้อมเติบโตไปกับเทรนด์โลกหรือไม่ ?
แนวโน้มความต้องการสินค้าในกลุ่มไฮเทคและเทรนด์รักษ์โลกส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกเปลี่ยนแปลงไป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตระดับต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรรวม (IC) ไปจนถึงการผลิตสินค้าปลายน้ำอย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ (PC/Laptops) หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทั้งนี้ความต้องการสินค้าไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าไฮเทคซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นตามไปด้วย เช่น ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรรวม แผงวงจรพิมพ์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของ Trade map ในปี 2022 ที่พบว่า แผงวงจรรวมและเซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดโลกต้องการมากที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 1.194 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2012 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มความต้องการสินค้าหรืออุปกรณ์ไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 1)
แรงผลักดันหลักที่ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มาจาก 4 ปัจจัย (รูปที่ 1) คือ 1) เทรนด์รักษ์โลกกับการบริหารธุรกิจให้เติบโตแบบยั่งยืน ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล รวมไปถึงการจัดทำแผนการพัฒนาองค์กรแบบยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัย Research and Markets ที่ได้คาดการณ์ว่าตลาดเทคโนโลยีสีเขียวและความยั่งยืนของโลกจะขยายตัวจาก 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เป็น 1.349 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 29.5% ในช่วงปี 2024-2030 2) การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และกลุ่ม Data center ที่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจาก AI มีความสามารถในการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วในเวลาที่จำกัด และส่งผลให้กลุ่ม Data center เติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย โดย SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดให้บริการ Data center ของโลกมีแนวโน้มขยายตัวราว 22%YOY ในปี 2024 3) แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก สวนทางกับความต้องการยานยนต์สันดาปที่ทยอยปรับตัวลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องไปกับผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือ COP28 เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ที่ชี้ชัดว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่น ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด สะท้อนได้จากข้อมูลของ BloombergNEF
ที่คาดการณ์ว่ายอดขายของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 20% ระหว่างปี 2025-2027 4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิต สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่ และส่งผลให้มีการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนไปยังประเทศพันธมิตรมากขึ้นซึ่งรวมถึงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและไทย
รูปที่ 1 : แนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกมุ่งไปที่สินค้ากลุ่ม High value-added มากขึ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยบางส่วนเริ่มเกาะกระแสไปกับอุปสงค์
ในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป แต่ยังมีสินค้าบางหมวดที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกและเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในทางธุรกิจและชีวิตประจำวัน การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว และแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้โครงสร้างการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยบางส่วนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
โดยพบว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Power electronics มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Trade map ที่พบว่า ในปี 2022 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดโลกมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2012) อาทิ สัดส่วนการส่งออกของไทยในตลาดโลกในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ แผง/ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า แผงวงจรพิมพ์ และเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.5% 1.3% และ 0.6% ในปี 2012 มาอยู่ที่ 3.1% 2.5% และ 1.7% ในปี 2022 ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Power electronics
ที่ขยายตัวเฉลี่ย 5% และ 6% ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงปี 2012-2023 (รูปที่ 2) อย่างไรก็ดี ในกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไทยกลับมีสัดส่วนการส่งออกลดลงในตลาดโลกมาอยู่ที่ 0.6% ในปี 2022 จากเดิมที่ไทยเคยมีสัดส่วนการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปตลาดโลกราว 1% ในปี 2012 ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ของไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
รูปที่ 2 : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยบางส่วนเริ่มเกาะไปกับกลุ่มเทรนด์โลกมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการสินค้าไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map และกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นต้นมา ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดโลก
ได้เริ่มมีการแบ่งขั้วทางการค้าและทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตรที่อยู่นอกวงความขัดแย้งมากขึ้น โดยเรามองว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการปรับโครงสร้างภายในห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งและสำคัญของอาเซียน มาอย่างยาวนาน แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีอุปสรรคและเติบโตได้ค่อนข้างจำกัดหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียน สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปตลาดโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2012-2023 ขณะที่เวียดนามและมาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดโลกขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% และ 7% ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้ง หากพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งเป็นรายสินค้า จะพบว่าสินค้าที่ไทยมีการส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ HDD เครื่องใช้ไฟฟ้า และวงจรรวม ซึ่งกลุ่มสินค้า 2 ลำดับแรกที่ไทยส่งออกมากที่สุดอย่าง HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงต่อเนื่อง เทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและมาเลเซียที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่ความต้องการเติบโตดีและมีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มชิป สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 : มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในตลาดโลกขยายตัวค่อนข้างจำกัดกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไฮเทค
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
ทั้งนี้จากแนวโน้มความต้องการและเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป SCB EIC ได้มีการจำแนกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1) กลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวต่อเนื่องและไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ เป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มขยายตัวทั้งมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกจากการที่ไทยเป็นผู้นำตลาดในอาเซียนและมีห่วงโซ่อุปทานที่เอื้อต่อการผลิตอย่างครบวงจร
• เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไทยยังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศของโลก โดยไทยส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศไปยังตลาดโลกมากที่สุดในอาเซียนและเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยในปี 2024 มีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ราว 2%YOY โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯ เวียดนาม และออสเตรเลีย โดยมีปัจจัยหนุนจากทั้งความต้องการเครื่องปรับอากาศในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งไทยยังได้อานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากจีนและหันมานำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่นรวมทั้งไทยมากขึ้นแทน (รูปที่ 4) สำหรับในระยะถัดไป SCB EIC มองว่า ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากฐานการผลิตเดิมของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนาน และจากการลงทุนของผู้เล่นสัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นอย่างเช่น Midea Group ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่วางแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอาเซียน นับตั้งแต่ที่จีนโดนกำแพงภาษีการนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากสหรัฐฯ ในปี 2019 อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตามองเนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านราคาและการนำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการควบคุมเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับระบบ Smart home ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Market research future ที่พบว่า ในปี 2023 ตลาดเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะโลกมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 17,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ยราว 13.2% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2023-2032
รูปที่ 4 : การส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2019 ที่จีนถูกตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าจากสหรัฐฯ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
2) กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและมีโอกาสปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ได้แก่
• กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าสำคัญในกลุ่มนี้คือ แผงวงจรรวมและเซมิคอนดักเตอร์ โดยพบว่าในช่วงระหว่างปี 2019-2023 มูลค่าการส่งออกแผงวงจรรวมและเซมิคอนดักเตอร์ของไทยไปตลาดโลกมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% ต่อปี และ 7.6% ต่อปี ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดย SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปี 2025 มีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ราว 3%YOY และมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ราว 3-5% ต่อปี ในช่วงปี 2026-2028 สอดคล้องกับข้อมูลของ Statista Market Insights ที่คาดว่ารายได้รวมของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 10.1% ต่อปี ในช่วงปี 2024-2029 จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในกระแสความต้องการของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย และกลุ่มคอมพิวเตอร์และการจัดเก็บข้อมูลที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงลึก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกแผงวงจรรวมและเซมิคอนดักเตอร์ของไทยยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียและเวียดนาม เนื่องจากที่ผ่านมาไทยยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงได้มากนัก เพราะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงและนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำยังไม่ดึงดูดได้มากพอ ส่งผลให้ไทยมีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้ค่อนข้างน้อยกว่าคู่แข่ง โดยปัจจุบันไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำจากต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ มากกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน (รูปที่ 5)
รูปที่ 5 : การส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรรวมยังคงขยายตัวอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากไทยยังขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตระดับต้นน้ำ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
• แผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB ในอดีตไทยเป็นผู้นำส่งออก PCB ไปตลาดโลกมากที่สุดในอาเซียน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออก PCB ของไทยไปตลาดโลกกลับชะลอลง (รูปที่ 6) เนื่องจากปัญหาการ
ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในหลายประเทศในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อการขนส่งสินค้าและส่งผลให้ความต้องการ PCB ของไทยชะลอลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออก PCB ของไทยไปตลาดโลกในปีนี้จะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ราว 1-2% จากความต้องการชิ้นส่วน PCB โลกที่เริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น กลุ่มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และในกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สำหรับในระยะถัดไป SCB EIC มองว่าอุตสาหกรรม PCB ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งจากบริษัทสัญชาติจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท และจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลของสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย ที่ระบุว่าแนวโน้มการลงทุน PCB ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4% เป็น 10% ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ของไทยให้เป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิต PCB ที่แข็งแกร่งยังคงมีความท้าทายจากการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วน PCB ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น
รูปที่ 6 : ในปี 2022 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จาก 1.3% ในปี 2012
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
• กลุ่มไฟฟ้ากำลัง หรือ Power electronics ประกอบด้วย หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟ/สายเคเบิล
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามอง เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
และพลังงานทดแทน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานของโลกเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
Net zero ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มไฟฟ้ากำลังของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 4.3%YOY ในปี 2025 โดยเฉพาะการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังตลาดสหรัฐฯ (รูปที่ 7) โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าในกลุ่ม Power electronics ทั้งในตลาดโลกและตลาดอาเซียนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนแนวโน้มการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในหลายประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดพลังงานหมุนเวียนโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของ Bloomberg ในปีที่ผ่านมา (2023) ที่ระบุว่า ราว 1 ใน 3 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดว่าจะเพิ่มไปอยู่ที่ 50% ภายในปี 2030
รูปที่ 7 : ไทยมีแนวโน้มส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าได้มากขึ้น ตามแนวโน้มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดโลกโดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
3) กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และ/หรือ เป็นสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงหรือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ได้แก่
• คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ภาพรวมของการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของไทยไปตลาดโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตอยู่ในระดับต่ำและมีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันของประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียน (รูปที่ 8) ทั้งนี้ถึงแม้ว่าไทยจะได้รับอานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบออกจากจีนก็ตาม แต่การลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เช่น ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super computer) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงน้อยกว่าประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและเวียดนามเนื่องจากไทยยังคงขาดความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่มีความซับซ้อน อาทิ ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปขั้นสูงที่รองรับเทคโนโลยี AI และแรงงานที่มีทักษะสูง อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป การส่งออกคอมพิวเตอร์ของไทย
ไปตลาดโลกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้จากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ IDC บริษัทวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำของโลก ที่ระบุว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโลกปีนี้มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 3.4%YOY หลังจากหดตัว 13.8% ในปี 2023 จากปัจจัยสนับสนุนของการเปลี่ยนมาใช้ Windows 11 ที่ส่งผลให้ยอดขายคอมพิวเตอร์โลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
รูปที่ 8 : การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของไทยยังคงขยายตัวต่ำด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ในขณะที่การส่งออก HDD แม้ว่าเป็นสินค้าเทคโนโลยีเก่า แต่ยังมีความต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่ม Data center
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map
• ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือ HDD ปัจจุบันไทยคงเป็นฐานการผลิต HDD ที่สำคัญของโลกและเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ขณะที่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยแม้ว่ายอดขาย HDD ในตลาดโลกจะหดตัวลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา จากความต้องการ HDD ของกลุ่มคอมพิวเตอร์ (PC)
ในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากมีการนำ Solid State Drive หรือ SSD เข้ามาใช้ทดแทนในส่วนของหน่วยจัดเก็บข้อมูลที่มีความจุต่ำกว่า 2TB ในกลุ่มแล็ปท็อปมากขึ้น แต่ SSD ยังมีข้อจำกัดด้านความคุ้มค่าในการเข้ามาทดแทน จากทั้งราคาที่แพงกว่ามากและประสิทธิภาพการใช้งานที่ด้อยกว่า อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออก HDD ของไทยไปตลาดโลกในปี 2025 ยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ราว 2%YOY จากความต้องการคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับวัฏจักรการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์์ที่เริ่มกลับมาตั้งแต่ปี 2024 สำหรับในระยะถัดไป คาดว่าความต้องการ HDD ที่มีความจุน้อยจะมีแนวโน้มปรับลดลงจากความต้องการในกลุ่ม PC และอุปกรณ์ไอทีสำหรับผู้บริโภคที่ชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออก HDD ที่มีขนาดความจุที่สูงยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากความต้องการในกลุ่มธุรกิจ Data center หรือ Cloud ขนาดใหญ่ และจากแนวโน้มการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม HDD ในไทยที่ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของ BOI ที่ประกาศว่าบริษัท Western Digital ที่มีส่วนแบ่ง
ในตลาดโลกราว 40% ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่มูลค่าราว 23,000 ล้านบาท เพื่อขยายฐานการผลิต HDD ในไทย อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการผลักดันไปสู่การพัฒนา HDD ที่มีความจุในการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นและมีขนาดการจัดเก็บที่เล็กลงแล้ว ยังต้องจับตามองการเร่งส่งเสริมการลงทุนในส่วนของ SSD เนื่องจากในหลายประเทศเช่นมาเลเซียได้หันไปผลิต SSD มากขึ้น และทยอยลดกำลังการผลิต HDD ลง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ไทยจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกให้มากขึ้น
ภาพรวมความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและศักยภาพการแข่งขันของไทย โดย SCB EIC มองว่าปัจจัยฉุดรั้งสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่ำกว่าคู่แข่งอื่นในกลุ่มอาเซียนเป็นผลมาจาก
1) การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือสินค้าไฮเทคของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น แผงวงจรรวม แผงวงจรพิมพ์ เซมิคอนดักเตอร์ Data center และ Cloud computing เป็นต้น ที่ไม่รวมยานยนต์ไฟฟ้า ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน โดยจากข้อมูลของ J.P. Morgan และการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมของ SCB EIC พบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีในอาเซียนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 24% ต่อปี ในช่วงปี 2015-2023 โดยในปี 2023 มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาเลเซียมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ 53% ของทั้งหมด ตามมาด้วย เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย ที่ 15%,14% และ13% ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง เนื่องจากความไม่พร้อมของห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะวิศวกรขั้นสูง จึงไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้เท่าประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่รัฐบาลมาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาแรงงานทักษะสูง รวมถึงการเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มบริษัท Startup เข้ามาลงทุนภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและออกใบอนุญาตการทำงานให้แรงงานต่างชาติที่มีความสามารถเฉพาะทางเพื่อหวังให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลาง Fintech ระดับภูมิภาค
2) การขาดการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำ ทั้งนี้ปัจจุบันศักยภาพการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงอยู่ในระดับกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบและรับจ้างผลิตส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ของไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าขั้นกลาง เช่น แผงวงจรรวม (IC) แผงวงจรพิมพ์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสินค้าขั้นปลาย เช่น คอมพิวเตอร์ (PC) เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน เป็นหลัก โดยในปี 2022 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำเพียงแค่ 1.7% ของสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก เทียบกับมาเลเซียและเวียดนามซึ่งอยู่ที่ราว 5% และ 4% ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงขาดการวิจัยและพัฒนาการผลิตสินค้าในระดับต้นน้ำอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เท่าทันไปกับเทรนด์โลก ซึ่งหากไทยไม่สามารถยกระดับและขยับไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่สูงขึ้นได้ ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียบทบาทและความสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกในอนาคตได้
3) การขาดแคลนแรงงานทักษะสูง การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น นอกจากจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลแล้ว ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง เช่น วิศวกรผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกล วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยพบว่าปัจจุบันไทยยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยจากผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD พบว่า ในปี 2023 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านองค์ความรู้ดิจิทัลและเทคโนโลยีอยู่ในลำดับที่ 41 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 63 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วม 5 ประเทศ (รูปที่ 9)
รูปที่ 9 : จากผลการสำรวจของ IMD พบว่าไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านองค์ความรู้ดิจิทัลและเทคโนโลยีเป็นอันดับ 41 ของโลกหรืออันดับ 3 ในอาเซียน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IMD
แล้วไทยจะปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ และคว้าโอกาสในการก้าวสู่การเป็นฮับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งอาเซียนได้อย่างไร?
จากแนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกและเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าว SCB EIC เสนอแนะแนวทางในการปรับกลยุทธ์ในเชิงรุกเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะข้างหน้า ดังนี้ (รูปที่ 10)
1) กลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้
• กลุ่มเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไทยควรรักษาฐานการผลิตเดิมควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาไปสู่การผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน
2) กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและมีโอกาสปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น
• กลุ่มแผงวงจรรวม/เซมิคอนดักเตอร์ ไทยควรรักษาบทบาทในการเป็นฐานการประกอบแผงวงจรรวม/ชิป ที่มีอยู่เดิมเอาไว้ และพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตชิประดับต้นน้ำมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาครัฐควรเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการผลิตชิประดับต้นน้ำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกันมากขึ้น
• แผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่มีทักษะสูง รวมไปถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาไปสู่การผลิต PCB ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น เพื่อให้สอดรับต่อความต้องการ PCB ในตลาดโลกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่มากขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ และ AI Server
• หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟ/สายเคเบิล ผู้ประกอบการควรมองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าหลักในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์เพื่อขยายการส่งออกไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น เพื่อขยายฐานการส่งออกไปยังตลาดโลก
3) กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และ/หรือ เป็นสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก
• กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไทยควรเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้นเพื่อยกระดับไปสู่การผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยี AI และตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
• กลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือ HDD ไทยควรลดการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำอย่าง HDD รุ่นเก่า และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิต HDD ที่มีความจุมากขึ้นและขนาดเล็กลง เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่ม Data center รวมถึงควรเริ่มหันไปลงทุนผลิต SSD ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่ม PC ให้มากขึ้น เพื่อรักษาบทบาทในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเอาไว้ในอนาคต
รูปที่ 10 : แนวทางการปรับกลยุทธ์เชิงรุกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
โดยสรุป SCB EIC มองว่า ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกยุคใหม่ โดยจำเป็นต้องมีการวางแผนและกลยุทธ์การเติบโต ดังนี้
1) การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวตอบโจทย์ ESG โดยเริ่มจากการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตสีเขียวตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดการใช้สารเคมีอันตราย การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการผลิต ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัย European Policy Centre หรือ EPC ที่มองว่าควรนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือการนำขยะรีไซเคิลกลับเข้ามายังกระบวนการผลิตใหม่ ตลอดจนมีการเก็บสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่จะสามารถช่วยภาคธุรกิจวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการเลือกใช้วัสดุสีเขียวและจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี
2) การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง โดยต้องมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาแรงงานอย่างชัดเจน สำหรับกลุ่มแรงงานจบใหม่ ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาที่สอดรับกับตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ช่างเทคนิค ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เนื่องจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีสูงนั้นจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งรวมถึงทักษะด้านดิจิทัลในการคิดวิเคราะห์หรือประมวลผลร่วมด้วย นอกจากนี้ จะต้องมีการส่งเสริมในเรื่องการ Upskill และ Reskill ให้กับกลุ่มแรงงานเดิมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ที่จะสามารถนำไปพัฒนาการทำงานในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจและภาคแรงงานได้เติบโตไปพร้อมกัน
3) การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าระดับต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันตั้งเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำมากขึ้น เริ่มต้นจากการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ มีการปรับปรุงเงื่อนไขการทํางานและการพํานักสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกลุ่มบริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและการจัดซื้อหรือนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเพื่อรองรับการใช้งานพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ครอบคลุมถึงกิจการอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในอนาคต
ท่ามกลางความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น SCB EIC มองว่าไทยยังมีความหวังในการยกระดับศักยภาพการผลิตและการแข่งขันเพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งได้ ด้วยการรักษาฐานการผลิตสินค้าเดิมที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ ลดการลงทุนในสินค้าโลกเก่า เน้นขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ครอบคลุมกิจการอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนและตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างแท้จริง
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/electronics-industry-090924
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ จิรภา บุญพาสุข jirapa.boonpasuk@scb.co.th นักวิเคราะห์
INDUSTRY ANALYSIS
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส
ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส
จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์
ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์
ข่าวเด่น