นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้สนับสนุนการให้กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (กองทุนฯ) ซึ่งปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 กันยายน 2567) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 349,481 ล้านบาท ระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ให้แก่นักลงทุนทั่วไปจำนวนประมาณ 150,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยประมาณ 30,000 - 50,000 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท และต่อมาได้มีการให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (Roadshow) เมื่อวันที่ 9 - 10 กันยายน 2567 นั้น ผลคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจกับการเสนอขายอย่างคึกคัก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกองทุนฯ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการรับประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน แต่ก็มีกลไกในการคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน และความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทนที่กำหนดไว้
เงินที่ระดมทุนได้จะเน้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะสร้างแรงกระตุ้นการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน
ทั้งนี้ การดำเนินการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลไกคุ้มครองเงินลงทุน
และผลตอบแทนได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งบริษัทจัดการได้ยื่นแก้ไขโครงการจัดการกองทุนฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว นอกจากนี้ การกำหนดกลไกการคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน (WaterFall) ยังคงสอดคล้องกับโครงการจัดการกองทุนฯ เดิม
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ร้อยละ 3 ต่อปี ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังที่ได้เสนอขายไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินการจริงของกองทุนฯ แต่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ในขณะที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานจริงของกองทุนฯ รวมถึงได้รับผลตอบแทนของกองทุนฯ ส่วนที่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ทั้งหมดโดยไม่มีเพดานขั้นสูง จึงคาดว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดีและมีความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการจัดสรรผลตอบแทนดังกล่าวถูกออกแบบให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มได้รับ
ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยในประเทศสามารถจองซื้อหน่วยลงทุนได้ระหว่างวันที่ 16 - 20 กันยายน 2567
ผ่านบริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน รวม 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 6) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 7) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ 8) ธนาคารออมสิน และจะได้รับการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งจะทำให้ผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน และนักลงทุนสถาบันสามารถจองซื้อหน่วยลงทุนในช่วงวันที่ 25 - 27 กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายให้หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถซื้อขายใน ตลท. ได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
ข่าวเด่น