แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมและวัฏจักรการผลิตของไทยในวันนี้กำลังเผชิญหน้าความท้าทายครั้งใหญ่ จากข้อมูลตัวเลขภาพรวมโรงงานที่ปิดตัวลง โดยเฉพาะส่วนต่างระหว่างการเปิดโรงงานที่มากกว่าปิด เฉลี่ยลดลงมาอยู่ไม่ถึง 100 โรงงานต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติของขนาดโรงงานยังพบตัวเลขการเปิดโรงงานขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเปิดกิจการเพิ่มขึ้น 25.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันในการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมให้หยัดยืนต่อไปได้
นโยบายภาครัฐ: ตัวแปรตั้งต้นแห่งศักยภาพภาคโรงงานไทย
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยกระทบเชิงลบรอบด้านอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในพื้นที่สำหรับประกอบการอุตสาหกรรมหลักของไทย ที่กำลังพิสูจน์ศักยภาพของประเทศในการเป็นฐานที่ตั้งโรงงานของเหล่าผู้ประกอบการจากทั่วโลก คือ พื้นที่ Free Zone หรือเขตปลอดอากร เพื่อการสนับสนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
พื้นที่ Free Zone เป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ที่จะเข้ามาประกอบกิจกรรมในพื้นที่ Free Zone นี้ ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ
ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโครงการพื้นที่ Free Zone เบอร์ 1 ของประเทศ คือ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ (PD) ในเครือ บมจ.มั่นคงเคหะการ ผู้นำโครงการคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า ภายใต้ชื่อ โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (BFTZ) ซึ่งพบว่า แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวดี กลับมีสัดส่วนผู้เช่าอาคารโรงงานเฉพาะบนพื้นที่ Free Zone รวมทุกโครงการสูงกว่า 70% ขณะที่อีก 30% เป็นผู้เช่าอาคารคลังสินค้าและบริการ ที่ดีมานด์ความต้องการเช่าไม่เคยลดลง เนื่องจากเป็นพื้นที่ Free Zone ประเภทอุตสาหกรรม สามารถใช้ประกอบธุรกิจครอบคลุมในส่วนของการผลิต ขนส่ง จัดเก็บและกระจายสินค้า ได้อย่างครบวงจร
นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหาร ‘โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน’ กล่าวว่า “ภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบชะลอตัว เป็นผลพวงจาก Long COVID ที่เกิดกับธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจอย่างใกล้ชิดกว่าที่เคยเป็นมา ส่งผลให้หลาย ๆ ธุรกิจอาจต้องพิจารณาลดจำนวนโรงงานภายใต้การดูแลลง แต่สำหรับโรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นอากรจากภาครัฐ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ Free Zone เราพบว่า ยังมีการขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานที่ตั้งโรงงานของเจ้าของธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกในระยะยาว”
เครือข่ายผู้ประกอบการ: บันไดสู่การยกระดับขีดความสามารถโรงงานในประเทศไทย
เนื่องจากไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะเหมาะแก่การจัดตั้งบนเขตปลอดอากร ส่งผลให้ในอดีต ผู้ประกอบการโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ มองข้ามพื้นที่ Free Zone เพราะขาดความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์จากการตั้งโรงงานบนพื้นที่ดังกล่าว นำมาสู่คำถามสำคัญว่า แล้วพื้นที่ Free Zone จะตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยอย่างทั่วถึงได้อย่างไร
ด้วยเป้าหมายที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นำไปสู่การปรับโมเดลพัฒนาโครงการ BFTZ ให้มีพื้นที่เขตประกอบการทั่วไป หรือ General Zone เพื่อเป็นทางเลือกรองรับการใช้งานของหลากหลายประเภทธุรกิจและทุกขนาด โดยพรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ ใช้เวลากว่า 15 ปี ผลักดันพื้นที่ยุทธศาสตร์เชิงอุตสาหกรรมของประเทศไทย ไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจ จนปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างชาติ มีความเชื่อมั่นในการจัดตั้งโรงงานบนพื้นที่ Free Zone และวางแผนขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
“สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐมอบให้ธุรกิจผู้นำเข้า-ส่งออก ที่เข้ามาใช้พื้นที่ Free Zone นั้นเป็นกุญแจสู่การตัดสินใจจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมองให้รอบว่าเรายังสามารถต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างไร เพื่อเข้าไปสนับสนุนธุรกิจอื่น ๆ ที่ในวันนี้อาจยังไม่เข้าข่ายที่จะใช้พื้นที่ Free Zone สิ่งที่เราทำได้คือการดึงผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้เข้ามาสนใจตั้งโรงงานในประเทศไทยก่อน และในอนาคตเขาก็อาจขยับขยายไปสู่พื้นที่ Free Zone ได้เช่นกัน” นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กล่าว
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าของ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ สะท้อนมุมมองการร่วมผลักดันจุดแข็งของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ความเข้าใจเชิงลึกที่มีต่อเหล่าผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดบริการ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโรงงานองค์รวม
“สำหรับอนาคตของโรงงานไทย เราต้องสร้างโอกาสใหม่ ด้วยการต่อยอดอีโคซิสเต็มให้แข็งแกร่ง ทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เพิ่มทักษะแรงงาน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาความร่วมมือของผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรม ศักยภาพพื้นที่ Free Zone เขตปลอดอากร เป็นอีกหนึ่งแนวทางสนับสนุนธุรกิจที่มีการนำเข้า-ส่งออก ตั้งฐานการผลิตในระยะยาว มากไปกว่านั้น เราในฐานะผู้ให้บริการพื้นที่โรงงาน ก็ต้องพร้อมยกระดับบทบาทตัวเองเป็นมากกว่าผู้ให้บริการพื้นที่เช่า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้รวดเร็ว ราบรื่นและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ผู้บริหาร บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหาร ‘โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน’ กล่าว
ขุมพลังแห่งผู้ประกอบการโรงงาน: ไม่หยุดพัฒนา คว้าโอกาสที่ใช่ ได้ทำเลดี มีพันธมิตรระยะยาว
ปัจจุบัน พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ สนับสนุนพื้นที่เช่าให้แก่ผู้ประกอบการจากหลายประเทศกว่า 238 บริษัท 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย, จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และยุโรป รูปแบบของพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าประกอบด้วย อาคารสำเร็จรูป Ready Built, อาคารสร้างตามความต้องการ Built-to-Suit และ Ready Built-to-Suit ซึ่งเป็นการพัฒนาอาคารเดิมที่ได้มาตรฐานอยู่แล้วให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะตัว
ตัวอย่างผู้ประกอบการโรงงาน ที่ยังคงมั่นใจปักหลักในประเทศไทย และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง คือ บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2555 จัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แผ่นทำความสะอาดแบบเปียก แบบแห้ง, กางเกงชั้นในแบบใช้แล้วทิ้ง, แผ่นซึมซับหรือดูดซับของเหลว เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย สำหรับเด็กทารก บุคคล โรงพยาบาล โดยมีลูกค้าหลัก อาทิ American P&G, American Frida Baby, Wacoal, ลูกค้าชาวญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน
นายโห ซิง กรรมการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด เผยมุมมองการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ Free Zone ว่า “การตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทยเป็นเวลากว่า 12 ปี บริษัทผ่านหลากหลายสถานการณ์ที่สำคัญ และยังรักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจเอาไว้ได้ จากเดิมเช่าโรงงานในโครงการ BFTZ 1 บางนา-ตราด กม. 23 พื้นที่ประมาณ 6,000 ตร.ม. จนปัจจุบันอยู่ที่ 20,000 ตร.ม. และมีแผนที่จะขยายโรงงานเพิ่มเติมบนพื้นที่ Free Zone ในทำเลยุทธศาสตร์ของไทย ด้วยความที่บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกเป็นหลัก ทำให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในเขตปลอดอากร และใช้เวลาในการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ของ ไทย ฮาโซ จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคที่มีดีมานด์สูง แต่เราไม่หยุดนิ่ง พัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ทำความเข้าใจตลาดและเจาะอินไซต์ของลูกค้าแล้วพัฒนาสินค้าคุณภาพที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายต่อไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้ายอดขายประจำปีอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ”
นายเสียง หลิง ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด เสริมว่า “โรงงานผลิตของเราเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ มีพนักงานกว่า 470 คนในไลน์การผลิตและสำนักงาน 99% ของพนักงานเป็นคนไทย สถานการณ์การแข่งขันที่มีผู้เล่นในตลาดมากมาย โฟกัสหลักของบริษัทจึงมุ่งขยายขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มทักษะแรงงาน การร่วมมือกันระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างไม่ลดละ ผ่านการวางงบประมาณด้าน R&D สูงถึง 10% ของยอดขาย ประกอบกับแนวทางการจัดการลดต้นทุนด้านการขนส่ง ทำให้เราสามารถคว้าส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนได้มากขึ้น ในปี 2568 เราวางแผนที่จะขยายประเภทผลิตภัณฑ์และเพิ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทต้องมีการจดสิทธิบัตรเพื่อรับรองนวัตกรรม”
ด้าน บริษัท ฟานุคคี แดรี่ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตภัณฑ์นม (Dairy Product) เป็นผู้นำการผลิตชีสคุณภาพสูงจากประเทศอิตาลี มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัว ‘ฟานุคคี’ ที่มีประสบการณ์ในวงการนี้มายาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ผสานองค์ความรู้และเทคนิคที่ถ่ายทอดมาจนถึงรุ่นที่ 4 ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบชีสคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคชาวไทย ภายใต้วิสัยทัศน์หลัก คือการต่อยอดกลุ่มผลิตภัณฑ์นมโดยใช้วัตถุดิบชั้นเลิศ ร่วมกับการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ และพัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจในตลาด ผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ ฟานุคคี แดรี่ ได้แก่ มอสซาเรลลาชีสสด, มอสซาเรลลา ฟอร์พิซซ่า, มอสซาเรลลาชีสแท่ง และ ขนมชีสอบกรอบ แบรนด์ YUMMY BITES
นายนิโคลา ฟานุคคี กรรมการ บริษัท ฟานุคคี แดรี่ จำกัด กล่าวว่า “เราเลือกดำเนินธุรกิจและตั้งโรงงานที่ประเทศไทย เพราะมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ บริษัทเห็นโอกาสจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและมีผู้ผลิตชีสในประเทศไม่มากนัก ขณะที่การตัดสินใจเลือกโครงการเพื่อเช่าโรงงาน เรามองหาสิทธิประโยชน์ของพื้นที่ Free Zone เป็นอันดับแรก เนื่องจากธุรกิจของ ฟานุคคี แดรี่ มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเพื่อผลิตและจำหน่ายชีสในประเทศไทยเป็นหลัก ส่งออกบางส่วนไปยังกัมพูชาและเวียดนาม โดยมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่ม B2B การได้รับประโยชน์ตรงส่วนนี้จึงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งที่ตั้งของโครงการ BFTZ 1 บริเวณ บางนา-ตราด ยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และท่าเรือที่สำคัญ”
แม้ในอนาคตอันใกล้อาจพบเจอกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบ ในภาพรวมประเทศไทยยังคงเป็นตลาดแห่งโอกาสที่สำคัญซึ่งมีแนวโน้มแห่งการเติบโต โดยเฉพาะตลาดชีสในไทย สะท้อนจากเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และมักมีชีสเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร
“ด้วยบริการและการสนับสนุนที่ดีจากทีมงานของเจ้าของโครงการ ทำให้เราเข้าถึงการส่งเสริมจากภาครัฐของไทยได้อย่างราบรื่น ขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ควบคู่ไปกับการขอใบอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็ว เราเช่าอาคารแบบ Stand Alone หรือโรงงานที่มีรั้วรอบขอบชิด เหมาะในการประกอบธุรกิจอาหาร ในมุมมองของชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจในไทย เมื่อมีพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจ ให้คำแนะนำและดูแลรอบด้าน เราก็สามารถเดินหน้าสร้างการเติบโตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ” นายนิโคลา กล่าวปิดท้าย
การยกระดับศักยภาพ ปรับตัวให้พร้อมรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงและจับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เป็นหนทางในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เผชิญทุกแรงต้านอย่างมั่นคง แนวคิดดังกล่าวคือภาพสะท้อนจากเส้นทางแห่งพัฒนาการของเหล่าผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ Free Zone สู่การสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว
ข่าวเด่น