หุ้นทอง
ก.ล.ต. ร่วมมือกับ ADB จัดงานสัมมนาให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “Transition Finance: Bridging the gap to sustainability” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการส่งเสริมการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกและเสริมสร้างศักยภาพให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนภายใต้กรอบการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Transition Finance) ได้อย่างน่าเชื่อถือ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (transition plan) เครื่องมือที่ใช้ประเมินและคัดเลือกกิจกรรมที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนความคาดหวังจากผู้ลงทุนที่ต้องการจะลงทุนเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งนำเสนอกรณีศึกษาของบริษัทในไทยที่มีประสบการณ์ในการพัฒนา transition plan และการกำหนดเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน (transition pathway) ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง 
 

 
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาในการเปิดงานว่า ก.ล.ต. ต้องการสนับสนุน
ให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินธุรกิจที่มุ่งเป้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อลดความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ โดยแผนงานที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมตั้งแต่ธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นรากฐานสำคัญของการทำธุรกิจโดยให้คำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำ Roadmap เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

“ปัจจุบัน กล.ต. ยังคงเดินหน้าส่งเสริม Transition Finance นับเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นความเสี่ยงให้ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ในทางกลับกันหากเร่งดำเนินการได้สำเร็จจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sectors) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจของตนและทยอยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนเป็นศูนย์ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันมีคู่มือต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลที่กิจการสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และแนวทางการระดมทุนภายใต้กรอบ Transition Finance ของอาเซียน (ASEAN Transition Finance Guidance: ATFG) ซึ่ง ก.ล.ต. มีส่วนร่วมในการจัดทำทั้ง Taxonomy ในระดับประเทศและระดับอาเซียน และ ATFG” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

 
Mr. Satoru Yamadera, Advisor, ADB เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และ ADB ในการขับเคลื่อนตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งขยายผลไปทั่วภูมิภาค โดยตั้งแต่ปี 2563 ADB ได้ให้การสนับสนุนการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคแล้วกว่า 12 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย มูลค่าการระดมทุนในสกุลเงินท้องถิ่น เทียบเท่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องกว่า  1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ADB จะต่อยอดประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างระบบนิเวศของการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาค ที่จะมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและจะนำเสนอเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Transition Finance และการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) 

สำหรับบนเวทีสัมมนายังมีการบรรยายให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญของ Transition Finance จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศและร่วมแลกเปลี่ยนในหลายๆประเด็น ทั้งในเรื่องกรอบการดำเนินงาน (framework) และแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้เครื่องมือ วิธีการวัด และการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของ transition plan ซึ่งนำเสนอโดย Ms. Yuki Yasui, APAC Managing Director, Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) และยังมีการยกกรณีตัวอย่างของอาเซียนในการจัดทำ framework สำหรับ Transition Finance ที่มีความเหมาะสมและคำนึงถึงบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ซึ่งนำเสนอโดย Mr. Eugene Wong, CEO, Sustainable Finance Institute Asia (SFIA)  และ Mr. Sean Kidney, Co-founder and CEO, Climate Bonds Initiative ที่ได้กล่าวว่าการจะบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จำเป็นต้องอาศัย Transition Finance ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเป็นโอกาสของเอเชียในการดึงดูดเงินลงทุนเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำ Technology Sectoral Roadmap ของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในญี่ปุ่น โดย Ms. Eriko Seki, Deputy Director, Environmental Finance Office, GX Policy Group, Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถนำรายการเทคโนโลยี พร้อมกับกรอบเวลา ซึ่งได้รับการศึกษาแล้วว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ใช้อ้างอิงในการลงทุน 

พร้อมกันนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากผู้มีประสบการหลายๆท่าน ได้แก่ Ms. Atsuko Kajiwara, Head of Sustainable Finance Evaluation Group, Japan Credit Rating Agency ในฐานะที่เคยเป็นผู้ประเมินตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (transition bond) ที่ออกในญี่ปุ่น และ Mr. Jason Mortimer, Head of Sustainable Investment – Fixed Income and Senior Portfolio Manager, Nomura Asset Management แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้ง Mr. Colin Chen, Head of ESG Finance, Asia Pacific, Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) และ Mr. LAU Yat Fei, Head of Sustainability Strategy, Economics and Strategic Planning Department, Bank of China (Hong Kong) ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำ transition plan และการออก transition bond ของธนาคารอีกด้วย  

โดยในช่วงท้ายของงานสัมมนา ได้มีการจัดเวทีเสวนาระหว่างผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในไทย ได้แก่ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา transition plan เพื่อขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เป้าหมาย Net Zero รวมถึงกลยุทธ์และแผนงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่าการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ และต้องเปลี่ยนผ่านในทุกระดับของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทท้ายที่สุดจะต้องครอบคลุมไปจนถึงกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของห่วงโซ่อุปทาน 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook สำนักงาน กลต. และสามารถดาวน์โหลด Taxonomy และ ATFG ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/ ResourceCenter-Guidance.aspx
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2567 เวลา : 17:48:53
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 7:57 am