การค้า-อุตสาหกรรม
กรมศุลกากรร่วมเสวนาในการประชุม WTO Public Forum 2024 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ก้าวสู่ศุลกากรในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ


 
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 นายนิติ วิทยาเต็ม รองอธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้แทนกรมศุลกากร เข้าร่วมการประชุม WTO Public Forum 2024 และร่วมเสวนาในหัวข้อ “Leveraging Digitalization in Customs for Inclusive Trade” กับ Mr. Ian Saunders เลขาธิการองค์การศุลกากรโลก Ms. Angela Ellard รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และ Ms. Valerie Picard หัวหน้าคณะกรรมาธิการ
ด้านการค้าหอการค้านานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในงานศุลกากร พร้อมปรับปรุงพิธีการศุลกากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
 
 
 
นายนิติ วิทยาเต็ม รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรมศุลกากรดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ "องค์กรศุลกากรชั้นนำ ที่มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนของเศรษฐกิจและความปลอดภัยของสังคม 
ด้วยนวัตกรรมและบริการที่เป็นเลิศ" ได้เผยแพร่ความสำเร็จในการปรับใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ของไทย (Thai Customs Electronic System: TCES) ซึ่งเป็นระบบศุลกากรไร้เอกสาร ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้มาตรฐานของ ebXML ผ่านระบบ National Single Window (NSW) และพัฒนาอย่างครอบคลุมทั้ง 7 ส่วน ได้แก่ การบริการศุลกากร การตรวจปล่อยสินค้า การจัดการขนส่ง การจัดการความเสี่ยง การบริหารข้อมูล สิทธิประโยชน์ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งระบบนี้ช่วยยกระดับการทำงานและการบริการด้านศุลกากรอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การสร้างความตระหนักรู้ไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกันระหว่างหลายแพลตฟอร์มดิจิทัล
 
 
สำหรับประเด็นการสนับสนุน MSMEs กรมศุลกากรได้ออกแบบระบบดิจิทัล เช่น ระบบตรวจคัดเลือกและประเมินผลผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ (AEO) ซึ่งช่วยให้ MSMEs ได้รับสิทธิประโยชน์ในการทำการค้าระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัย ระบบพิธีการศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และระบบติดตามพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tracking) ที่เปิดโอกาสให้ MSMEs สามารถเข้าถึงตลาดการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น และยังมีส่วนในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
 
 
 
นายนิติฯ กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรกำลังวางแผนโครงการ Big Data เพื่อยกระดับการให้บริการและการจัดการข้อมูลในอนาคต นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูล
ในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกภายใต้ ASEAN Single Window (ASW) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ อาทิ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (ATIGA e-Form D) และข้อมูลใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document: ACDD) เป็นต้น เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงานด้านศุลกากรในระดับภูมิภาค ต่อไป 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2567 เวลา : 19:39:06
15-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 15, 2025, 3:30 pm