เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ


 
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 
17 กันยายน 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายสำคัญที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
 
คณะรัฐมนตรีเล็งเห็นว่า เนื่องจากในปี 2567 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่า
ค่าเฉลี่ยในอดีต และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (Potential Growth) และประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น การหดตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในช่วงครึ่งปีแรก การหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ผลิตอุตสาหกรรมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนพิการที่มีกำลังซื้อที่อ่อนแอได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ คณะรัฐมนตรีจึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการฯ เพื่อเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสาระสำคัญของโครงการฯ ดังนี้
 
1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระ
ค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565  ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 12.40 ล้านราย ประกอบด้วย 
 
1.1 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้วตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 
 
1.2 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. 
 
1.3 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม. 
 
ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ 
ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จ และเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ พม. ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
 
2. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน 
 
ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา 
 
(2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ย
 
ความพิการตามข้อ (1)) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 2.15 ล้านราย ประกอบด้วย
 
2.1 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
 
2.2 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
 
2.3 คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ
ตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
 
2.4 คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ
ตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
 
ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 และไม่รวมถึงคนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ยืนยันข้อมูลคนพิการดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง

สำหรับการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน ดังนี้
 
25 กันยายน 2567  คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0
 
26 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3
 
27 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7
 
30 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9
 
หมายเหตุ: คนพิการ หมายถึง ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ
 
ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หมายถึง ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
 
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวมจำนวนประมาณ 14.55 ล้านราย ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า โดยจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าการมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.35 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
 
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเน้นย้ำให้กลุ่มเป้าหมายตามโครงการดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ดำเนินการทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2567 เวลา : 14:13:48
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:40 pm