ซีเอสอาร์-เอชอาร์
Scoop : หลักทรัพย์บัวหลวง จัดกิจกรรม "บัวหลวงชวนรู้ วิถีชุมชน สัมผัสชีวิตชาวปกาเกอะญอ และชาวม้ง"


หลักทรัพย์บัวหลวงเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในปีนี้นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม CSR ของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จึงให้โอกาสพนักงานลงพื้นที่ไปเรียนรู้มิติการใช้ชีวิตกับชนเผ่าหลากชาติพันธุ์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนเล็ก ๆ บนดอยสูง ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อเรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าของความแตกต่างพร้อมกับสนับสนุนวิถีชุมชนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน 
 
 
 
กิจกรรม “บัวหลวงชวนรู้ วิถีชุมชน สัมผัสชีวิต ชาวปกาเกอะญอ และชาวม้ง” ถูกจัดขึ้นให้พนักงานหลักทรัพย์บัวหลวง และบริษัทในเครือได้เข้าร่วม  โดยก่อนเดินทางได้ปูพื้นฐานสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอและชาวม้ง พร้อมเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมก่อนเดินทาง และเมื่อถึงวันเดินทาง ทุกคนได้รวมตัวกันที่สถานีกลางบางซื่อเพื่อโดยสารรถไฟตู้นอนมุ่งสู่ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
 
 
ในวันฟ้าโปร่งกลางฤดูฝน ชาวคณะหลักทรัพย์บัวหลวงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก คุณเศรษฐศิลป์ แสงสกาวรัตน์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว และคุณอภิรัตน์ มาศรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี และประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.เชียงใหม่ จากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารท้องถิ่น ณ ชุมชนชาวปกาเกอะญอ ที่มีเมนูเด็ดมากมาย เช่น ข้าวเบ๊อะ หรือ ต่าพอเพาะ ที่ปรุงจากการนำข้าวไร่ ข้าวดอยที่ปลูกเอง มาปรุงรวมกับสารพัดผักต่าง ๆทั้งอิ่มและอร่อยเติมพลังกันอย่างเต็มที่ก่อนไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป
   
 
เมื่อพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มกิจกรรมแรก “คุณปลูก เราดูแล” พนักงานผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เช่น อะโวคาโด โดยมีผู้สูงวัยในชุมชนเป็นผู้ดูแลให้เติบโตต่อไป  และก่อนจากกัน พือพือ และ พีพี หรือคุณตา คุณยายในชุมชน ได้กล่าวอวยพรเป็นภาษาปกาเกอะญอให้ชาวคณะบัวหลวงมีแต่ความสุขความเจริญอีกด้วย 
     
 
 
กิจกรรมต่อมา ชาวคณะได้เข้าชมการสาธิตและทดลองทอผ้ากี่เอว ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชนเผ่าชาวปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยใช้อุปกรณ์ทอผ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า “กี่เอว” มาทอผ้าและออกแบบให้เป็นลวดลายศิลปะที่มีอัตลักษณ์ซ่อนอยู่และเป็นความภาคภูมิใจของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งนอกจากการทดลองทอผ้ากี่เอวแล้ว ยังมีการทดลองตำข้าวแบบโบราณ  โดยใช้เครื่องทุ่นแรง ที่เรียกว่า "กลิ" ในการคัดแยกเมล็ดข้าวและเปลือกออกจากกัน และในช่วงท้ายของการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อุดหนุนสินค้าทำมือและข้าวกล้องดอยเพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชนที่สวยงาม มีเอกลักษณ์และคุณภาพดี 
   
 
หลังจากได้เรียนรู้และทดลองการทำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาวเผ่ากันอย่างสนุกสนานแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาเข้าฟังบรรยายและเยี่ยมชมสวนผลไม้-ดอกไม้ของชาวม้ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการทำการเกษตรบนพื้นที่ภูเขาจากแนวคิดการทำการเกษตรแบบผสมผสานของรัชกาลที่ 9 และปิดท้ายมื้อค่ำให้เข้าบรรยากาศด้วยเมนูพื้นบ้านสุดพิเศษ 12 เซียนม้งทะเลหมอก ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากเมนูไก่ต้มสมุนไพร ให้กลายมาเป็นชาบูที่รับประทานง่ายและได้คุณค่าจากสมุนไพรท้องถิ่นหลากหลายชนิด เช่น  ผักแพวแดง จิเตอเนง และตี๋ล่อ เป็นการเพิ่มกำลังวังชาเตรียมร่วมกิจกรรมในวันถัดไป
   
 
เช้าวันใหม่ คณะชาวหลักทรัพย์บัวหลวงเดินทางไปเรียนรู้การทำ “ตาแหล่ว” เครื่องรางของชาวเหนือ ซึ่งทำจากไม้ไผ่ นำมาสานเป็นทบ ๆ มีความเชื่อว่า ตาแหล่ว เปรียบเสมือนตาเหยี่ยว ที่คอยช่วยสอดส่องภัยชั่วร้าย และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านบ่อแก้ว และได้น้อง ๆ นักเรียนเป็นผู้สอนพี่ ๆ บัวหลวงอย่างใกล้ชิด ก่อนจะพาพี่ ๆ ไปทำกิจกรรม “คุณปลูก เราดูแล” ต่อเนื่องจากวันแรก ซึ่งเป็นการร่วมกับน้อง ๆ เพาะพันธุ์ต้นกล้า อะโวคาโด และกาแฟ เพื่อส่งต่อให้เด็ก ๆ ได้ดูแลต่อไป กิจกรรม “คุณปลูก เราดูแล” ทั้ง 2 วัน จึงเป็นมากกว่าการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวและสร้างรายได้ให้ชุมชน เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชุมชนระหว่างผู้มาเยื่อนและคนในชุมชนอีกด้วย
 
    
 
คุณเจมส์ หรือ นส.ณัฐยา วิชัยกุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในองค์กรแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่คนในเมืองไม่เคยได้รับรู้ ซึ่งการไปศึกษาวิถีชุมชนในครั้งนี้ก็ทำให้เห็นแนวคิดและมุมมองการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่พิถีพิถันแต่เรียบง่าย ตั้งใจจะนำประสบการณ์นี้ไปถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นและมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน” 
 
 
 
โดยการทำกิจกรรมทั้ง 2 วันนี้ ชาวคณะหลักทรัพย์บัวหลวงปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์รวม 0.78 ตัน เฉลี่ยคนละ 0.02 ตัน และได้ทำการชดเชยคาร์บอนโดยได้รับการรับรองจาก TGO องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นที่เรียบร้อย 
 
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่ได้มีโอกาสสนับสนุนชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถคงเอกลักษณ์และสืบสานวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2567 เวลา : 20:05:42
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:26 am