ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ไว้ที่ 2.6% โดยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยช่วง High Season ส่วนปัญหาน้ำท่วม สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิตกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจหลักชะลอตัว ขณะที่การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะมีผลกำหนดทิศทางสงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งไทยอาจไม่ได้อานิสงส์มากนัก
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2567 ในงานแถลงข่าว “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทย ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และช่วงดอกเบี้ยขาลง” ของทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงประเด็นเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางดอกเบี้ยขาลงว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมของวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 4.75% - 5.00% ซึ่งนับเป็นการลดมากกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งยังมีโอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในปีนี้ (โดยอาจจะเป็นลักษณะลดครั้งละ 0.25% ตามไทม์ไลน์การประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี หรือลดดอกเบี้ยทีเดียวที่อัตรา 0.50%) และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569
“ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบัน มองว่าไม่ชะลอตัวเข้าสู่ Hard Landing แต่ทิศทางของเศรษฐกิจก็เข้าสู่ช่วงขาลงทั่วโลก ดังนั้นจึงเริ่มเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารประเทศต่าง ๆ เช่น ช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ Fed จะทำการลดดอกเบี้ยล่าสุดนี้ ทางธนาคารกลางของอินโดนีเซีย หรือ BI ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 6% ซึ่งสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยทั่วโลกกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลง ราคาหุ้น สินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ และ ทองคำมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งราคาทองคำที่ขยับขึ้น ก็ทำให้ค่าเงินบาท แข็งค่ามากขึ้นเป็นอันดับ 1 ในเอเชียในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา” นายบุรินทร์กล่าว
จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากการที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง ประกอบกับปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มขึ้นต่อ โดยเฉพาะแรงหนุนจากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน และ รัสเซีย ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับสหรัฐ มี Demand สะสมทองคำมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมถึงความสนใจจากทางอินเดียเนื่องด้วยเทศกาลในประเทศ ก็ยิ่งเป็นตัวผลักดันราคาทองให้เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาทองคำตรงนี้จะช่วยซัพพอร์ตค่าเงินบาทให้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตลอดไป
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจจีน ยังได้รับปัจจัยกดดันจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมีการขยับตัวลง และคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะกินระยะเวลาไปอีก 8 ปี เพราะมีบ้านอีกจำนวน 48 ล้านยูนิตที่ยังสร้างไม่เสร็จ ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ เป็นปัญหา Oversupply ที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงต้องทำการอัดฉีดเงินช่วยเหลือให้โครงการที่สร้างค้างไว้ทำให้เสร็จ ทำให้อาจเกิดปัญหาด้านราคาตามออกมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นที่ลดลงในหมู่นักลงทุนและประชาชนชาวจีน ที่แม้คนที่มีกำลังทรัพย์ก็ไม่กล้าซื้อของ ไม่กล้าลงทุน เนื่องจากเกิดความกังวลต่อความมั่นคงทางสินทรัพย์ที่ซื้อไป โอกาสขยายตัวของ GDP ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.7% ในปี 2567 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5%
ด้านรัฐบาลจีน ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญกับการกีดกันทางการค้าจีนจากกลุ่มประเทศทางตะวันตก แต่ด้วยทางการจีนตอนนี้ยังเน้นภาคการส่งออกมาช่วงพยุงเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังเม็กซิโกและอาเซียน เพื่อส่งไปยังทางกลุ่มประเทศตะวันตกอีกที ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไทยอาจโดนเพ่งเล็งและอาจโดนเหมารวมกีดกันสินค้าส่งออกไปด้วย
สำหรับทางฝั่งยุโรป กำลังส่งสัญญาณความเปราะบาง เนื่องจากเยอรมัน ประเทศที่เป็นกงล้อสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจยุโรป กำลังเผชิญเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยที่ผ่านมาเยอรมันพึ่งพาสหรัฐในด้านความมั่นคงมาตลอด แต่ตอนนี้ต้องหันมาใช้เงินดูแลตัวเองด้านความมั่นคงทางด้านการทหาร อีกทั้งปัญหาด้านพลังงาน ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ขณะนี้ระดับราคาพลังงานจะลดลงมาแล้ว แต่ก็สูงกว่าในช่วง 5 ปีก่อนที่จะเกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเคมีภัณฑ์ในประเทศ และทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้มีแนวโน้มในระยะต่อไป ว่ามีโอกาสที่บริษัทยักษ์ใหญ่ 30 แห่งของเยอรมัน อาจต้องย้ายออกไปอยู่ประเทศอื่น เพราะมีกฎหมายว่าบริษัทที่มีลูกจ้างเกิน 500 คน ต้องเอาคนจากสหภาพแรงงานเข้าไปอยู่ในบอร์ดด้วย ทำให้บริษัทไม่สามารถเลิกจ้างลูกจ้างและแบกรับต้นทุนที่มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดังสัญชาติเยอรมัน มีการปิดตัวโรงงานลงในประเทศ เนื่องจากแพ้คู่แข่งผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศได้สำเร็จ ซึ่งแม้ธุรกิจรถยนต์จะคิดเป็น 5% ของ GDP ประเทศ แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งธุรกิจ Consulting, Accounting, R&D, Engineering หรือธุรกิจเคมีภัณฑ์ ต่างขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งสิ้น ปัญหารอบด้านที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทำให้ตอนนี้บทบาททางการเป็นผู้นำเศรษฐกิจของยุโรปมีการสั่นคลอนอย่างมากในปัจจุบัน
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุด คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจโลก จากนโยบายเศรษฐกิจระหว่าง 2 พรรคนั้น ในฝั่งของกมลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต เน้นออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนชนชั้นกลาง เช่น ให้เงินสนับสนุนบ้านหลังแรก การลดหย่อนภาษี ในขณะที่ฝั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เน้นการทำให้ธุรกิจภายในประเทศเติบโต เช่นการลดภาษี CIT และ PIT ด้วยความเชื่อว่าเมื่อธุรกิจดีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ส่วนนโยบายการค้า พรรคเดโมแครตจะยังมีการยึดกฎระเบียบของ WTO ให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเป็นธรรมอย่างยั่งยืน แต่พรรครีพับลิกัน จะยึดถือความเป็น “America First” เน้นความมั่นคงของชาติเป็นหลัก ซึ่งจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายระหว่าง 2 ฝั่ง พบว่าสหรัฐมีแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังเพิ่มสูงขึ้น หากฝั่งรีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง ส่วนด้านปัญหาเพดานหนี้สาธารณะก็จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงปีหน้า
แม้การยกระดับเพดานหนี้สาธารณะ จะสามารถขยายและเพิ่มการกู้ได้ออกไปเรื่อย ๆ แต่ต้องขึ้นอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเป็นสกุลเงินหลักของโลก ซึ่งตอนนี้อำนาจของสหรัฐ กำลังโดนท้าชิงจากประเทศจีนที่มีความสามารถทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเงิน การทหาร และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 4 ปัจจัยหลักในการหนุนนำความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐ อีกทั้งกลุ่มประเทศ Brics ก็กำลังสุมกำลังเพื่อท้าชิงเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก ด้วยการ De-dollarization หรือลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลง ตรงนี้จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม สหรัฐจะมีการสานต่อมาตรการกีดกันทางการค้า Trade War 2.0 ทั้งกับประเทศที่เข้าสู่กระบวนการ De-dollarization และเน้นหนักไปที่ประเทศจีน เนื่องจากหากวัดอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยดูจากกำลังซื้อ PPP เศรษฐกิจจีนมีการแซงหน้าสหรัฐไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 (แต่หากพิจารณาจาก Current Price ขนาดเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐอยู่) ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อสหรัฐอย่างมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐมีโอกาสขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ด้วยนโยบายกีดกันทางการค้า หรือ Trade War 2.0 ที่อาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และการนำเข้าจากที่อื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 10-20%
ห่วงโซ่การค้าของโลกที่มีการปรับเปลี่ยนนี้ จะส่งผลกระทบโดยรวมทั่วโลก เช่นในประเทศไทยอาจเกิดการขาดดุลทางการค้าของจีน เนื่องจากสินค้าจีนมีโอกาสทะลักเข้าไทยมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ไทยมีโอกาสการส่งออกกับทางสหรัฐมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนจีนจะมีการเชื่อมห่วงโซ่การผลิตกับประเทศโลกที่ 3 เพื่อเจาะเข้าตลาดสหรัฐ ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียน และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน จะส่งผลเสียด้านเงินเฟ้อที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อภาคครัวเรือนสหรัฐที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้า
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์ถึงประเด็นทางด้านอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้อุตสาหกรรมไทยจมอยู่กับปัญหาหลายเรื่อง ทั้ง 1.ปัญหาของน้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิตไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และอาจรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบลุกลามต่อในภาคกลางช่วงที่เหลือของปี อันทำให้มูลค่าความเสียหายรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ 2.การเผชิญเข้ากับปัญหาค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูง ที่ในปัจจุบันมีการแข็งค่ามากขึ้นในระยะเวลาเดียวกับช่วง High Season ของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น และเมื่อแปลงกับมาเป็นค่าเงินบาทกลับเข้าประเทศก็จะได้น้อยลงอีกด้วย ส่วนภาคการท่องเที่ยว ค่าเงินที่แข็งค่าจะส่งผลทางจิตวิทยากับนักท่องเที่ยว ที่อาจเกิดการใช้จ่ายที่น้อยลง ซึ่งกระทบกับธุรกิจการบริการต่าง ๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ 3.ความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในไทย ที่ต้องแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้า และการเข้ามาตั้งโรงงานของต่างชาติ ที่กระทบกับส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทย ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงขึ้นในอนาคต และทำให้เกิดการปิดตัวของโรงงานในอุตสาหกรรมที่แข่งขันต่อไปไม่ไหว เช่น กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เหล็ก รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 4.ต้นทุนจากค่าแรงขั้นต่ำจากนโยบายของภาครัฐ ที่กระทบต่อภาระต้นทุนที่มากขึ้นของผู้ประกอบการไทย ทั้งภาคการค้าที่มีการใช้แรงงานเยอะ ๆ ไปจนถึงภาคธุรกิจร้านค้า ร้านค้าปลีก เป็นต้น ดังนั้นจากปัญหาทั้ง 4 ด้านนี้ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs โดยภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว
ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยปรับสูงขึ้นมาตลอด และยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยอาจสูงถึง 2,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานของการส่งออกและการลงทุน และการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาล (High Season) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ส่วนภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง โดยผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ขณะที่ ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
สอดคล้องกับทางดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงปัญหาหนี้ในงานสัมมนาวิชาการแห่งประเทศไทย “หนี้: The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ว่า หนี้ครัวเรือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ทำให้ภาวะการเงินของครัวเรือนไทยเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิด-19 กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ
โดยต้นตอของ “ปัญหาหนี้” เกิดขึ้นจากการไม่ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เกิดขึ้นในอนาคตมากเท่าที่ควร และจากทางสถาบัน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ในอนาคตอย่างเพียงพอ เพียงแต่สนับสนุนถึงผลประโยชน์ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ปัญหาหนี้จึงมีการสะสม และฝังรากลึกขึ้น ทำให้ต้นทุนในการแก้ไขปัญหาสูงขึ้น ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาในตอนนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาสังคม ร่วมกันปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการออกนโยบายจากทางภาครัฐที่คำนึงถึงผลดีในระยะยาวต่อประเทศ
ข่าวเด่น