นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้ามาตรการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสถานประกอบการเร่งด่วนผ่านการจัดกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) พร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักร รวมถึงผลักดันสถานประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูและเยียวยาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนฯ กว่า 20 ล้านบาท
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่มีต้องการความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาในกรณีต่าง ๆ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ผ่าน “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ของอุตสาห กรรมรวมใจ ไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค พร้อมเตรียมการรถบรรทุกและรถขนส่งสำหรับการบริจาคสิ่งของจากเครือข่ายดีพร้อม ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิคช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
2. มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผน การฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การฟื้นฟู และปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout,
Re-Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ เช่น การให้คำปรึกษา ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อให้ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP กลับมาดำเนินการได้ปกติ พร้อมยกระดับศักยภาพการประกอบอาชีพสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ ลดรายจ่าย สามารถสร้างอาชีพใหม่ หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งได้บูรณาการผ่านเครือข่ายดีพร้อม (DIPROM Connection) จับมือกับเครือข่ายทางการพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ SMEs เข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท
3. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น พร้อมติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบแบบ Real Time พร้อมให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น