ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 ก.ย. - 27 ก.ย. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย หลังหลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากเครื่องมือสื่อสารถูกแฮกและเกิดระเบิดขึ้นในเลบานอน ขณะที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ยังคงหยุดดำเนินการจากเหตุพายุเฮอร์ริเคน Francine พัดถล่ม นอกจากนี้สหรัฐฯ มีแผนซื้อน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.5% บ่งชี้ถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงฟื้นตัวช้า ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบจีนยังคงอ่อนแอ และ Goldman Sachs และ Citigroup ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP) ในปี 2567
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยเนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ภายหลังเครื่องมือสื่อสารถูกแฮกและเกิดระเบิดขึ้นในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้กล่าวโทษอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในครั้งนี้และประกาศจะตอบโต้อิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
• ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวเนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ กว่า 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวันยังคงหยุดดำเนินการจากเหตุพายุเฮอร์ริเคน Francine พัดถล่มในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สํานักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) คาดเหตุการณ์นี้ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สูญหายไปกว่า 2.37 ล้านบาร์เรล
• กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (Department of Energy: DoE) ออกประมูลซื้อน้ำมันดิบ เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ม.ค. - มี.ค. 68 ที่คลังสำรอง Bayou Choctaw รัฐ Louisiana
• Eurostat เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (Harmonized Index of Consumer Prices: HICP) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ในเดือน ส.ค. 67 อยู่ที่เติบโต 2.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคิดเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ ก.ค. 64 เข้าใกล้อัตราเป้าหมายที่เติบโต 2.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
• ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน แม้ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.5% สู่ระดับ 4.75%-5% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 18 ก.ค. 67 ทั้งนี้นักลงทุนมองว่าการปรับลดครั้งนี้อาจสะท้อนถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงฟื้นตัวช้า
• อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันดิบจีนยังคงอ่อนแอเนื่องจากสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) ในเดือน ส.ค. 67 ทรงตัว อยู่ที่ 13.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 13.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคิดเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
• นอกจากนี้ Goldman Sachs และ Citigroup ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP) ในปี 2567 ลงสู่ระดับ 4.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (จากคาดการณ์ครั้งก่อน อยู่ที่ 4.9% และ 4.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ) เนื่องจากจีนเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ชะลอตัวลงอยู่ที่เติบโต 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ก.ย. 67 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 67 ยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. 67 ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล เดือน ส.ค. 67 จีดีพีไตรมาส 2/67 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม และบริการ เดือน ก.ย. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ผลกำไรภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16- 20 ก.ย. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสถานการณ์ความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอุปทานน้ำมันดิบได้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ก.ย. 67 ปรับลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 417.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร เผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค. 67 อยู่ที่เติบโต 2.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.ค. 67
ข่าวเด่น