วันพุธที่ 18 กันยายน 2567 ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเห็นชอบประกาศเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็ม สำหรับให้บริการกระจายเสียงประเภทบริการสาธารณะและบริการชุมชน ตามแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มกำลังส่งไม่เกิน 1 กิโลวัตต์ ที่ กสทช. ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งได้กำหนดสัดส่วนในการอนุญาตครั้งนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ตามที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งเป็นประเภทสาธารณะร้อยละ 20 และประเภทชุมชนร้อยละ 5 และที่เหลือเป็นประเภทกิจการทางธุรกิจ ทำให้มีคลื่นความถี่ที่สามารถจัดสรรในครั้งนี้สำหรับบริการสาธารณะและชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 838 คลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจุบันมีสถานีวิทยุประเภทสาธารณะและชุมชนอยู่เพียง 706 สถานี ทำให้สามารถรองรับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบการกระจายเสียง พ.ศ.2567 ที่ กสทช. ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขสำหรับกิจการบริการสาธารณะและการบริการชุมชน นั้น ต้องมีคุณสมบัติ ตามนี้ คือ
1. ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1.1 ประเภทที่หนึ่ง เพื่อการส่งเสริมความรู้การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ เช่น สุขภาพ กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
1.2 ประเภทที่สอง เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ
1.3 ประเภทที่สาม เพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น
2. ประเภทบริการชุมชน ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ
โดยผู้รับใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะ 1 นิติบุคคล มีจำนวนใบอนุญาตได้มากกว่า 1 คลื่นความถี่แต่ประเภทชุมชน 1 นิติบุคคล มีจำนวนใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตได้ 1 คลื่นความถี่ และอายุใบอนุญาตจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 เมษายน 2572 หรือตามที่ กสทช. กำหนดแต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยที่ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำขอรับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตผ่านระบบการยื่นคำขอรับอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(e-BCS)(https://bcsservices.nbtc.go.th/eservices/#/auth/ebcsmain) โดยสำนักงาน กสทช. จะประกาศเผยแพร่กำหนดช่วงวัน และเวลาที่ให้ผู้ประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมยื่นคำขอรับใบอนุญาต และวันที่จะให้ทดลองทดสอบระบบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไป เมื่อประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงได้ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้
“การออกประกาศเชิญชวนการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็ม สำหรับให้บริการกระจายเสียงในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการกระจายเสียงระดับท้องถิ่นประเภทบริการสาธารณะและบริการชุมชน ทั้งรายเดิมที่ได้ทดลองออกอากาศมามากกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แบบเป็นทางการ รวมทั้งรายใหม่ที่ประสงค์จะประกอบกิจการประเภทนี้ ได้เข้าสู่ระบบการอนุญาตที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีวิธีการอนุญาตที่ไม่ต้องใช้วิธีการประมูลแต่จะใช้วิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติตามที่ประกาศฯ กำหนด และเมื่อได้รับการอนุญาต กสทช.จะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ แต่หากผู้ประกอบการรายเดิมไม่แจ้งความประสงค์ตามเงื่อนไขและวันเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องสิ้นสุดการออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ สำหรับประกาศเชิญชวนการขอรับใบอนุญาตกระจายเสียงในประเภทธุรกิจ ที่กฎหมายบังคับให้ใช้วิธีการประมูลนั้น จะรีบเร่งรัดให้ออกได้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ เช่นกัน” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น