หุ้นทอง
ก.ล.ต.ชี้แจงช่องทางและขอบเขตในการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงช่องทางและขอบเขตในการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่สนใจเข้ามาให้บริการผู้ลงทุนไทยทราบถึงช่องทางและขอบเขตในการให้บริการที่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ก.ล.ต. จึงได้จัดทำเอกสารสรุปแนวทางการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจ (ease of doing business) โดยมีสาระสำคัญ 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

(1) การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า   
 
• ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 
 
• ก.ล.ต. มีแนวทางในการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย โดยลดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาให้ใบอนุญาต (fast track) หากผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติและความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว
 
• นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเว้นการให้บริการธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง ออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศสามารถขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแห่งเดียว (one stop service) เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจไทย

(2) การให้บริการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ 
 
• นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศที่ประสงค์จะให้บริการลูกค้าเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ประเภทผู้ค้าสัญญาฯ กับ ก.ล.ต.(light touch) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าการขอรับใบอนุญาต
 
• การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุนที่ให้คำแนะนำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น 
ให้คำแนะนำเฉพาะแก่กลุ่มบริษัทในเครือ หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต 
 
• ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศอาจให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจไทยที่พาลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยผู้ประกอบธุรกิจไทยจะต้องเป็นผู้ให้บริการลูกค้าตามขอบเขตของใบอนุญาตที่ได้รับ เช่น การทำความรู้จักลูกค้า การให้คำแนะนำการลงทุน

(3) การดำเนินการที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต/จดทะเบียนประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ 
 
• การตั้งสำนักงานผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือการเสนอขายหลักทรัพย์หรือบริการแก่ผู้ลงทุนไทย
 
• การจ้างบริษัท/บุคลากรในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติงานบางส่วนเพื่อการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในต่างประเทศ (outsource) โดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดต่อและให้บริการลูกค้าในต่างประเทศเอง

(4) การให้บริการแก่ผู้ลงทุนไทยกรณีไม่ได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องระมัดระวังการกระทำและไม่ดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เช่น
 
• แสดงตนหรือมีการกระทำเป็นทางค้าปกติว่าพร้อมให้บริการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ เช่น มีป้ายโฆษณา แผ่นพับ เว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ นามบัตร  
 
• ชักชวนผู้ลงทุนไทยให้ใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุน / จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศไทย / จัดสัมมนา ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทาง/สื่อต่าง ๆ โดยมีเจตนาชักชวนผู้ลงทุนไทยไปใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศได้โดยตรง 
 
• ใช้เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่มีการใช้/อำนวยความสะดวกในการใช้ภาษาไทย การให้ชำระราคาด้วยเงินบาท หรือมีช่องทางอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนไทยสามารถให้บริการกันได้โดยตรง
 
• การกระทำอื่นใดที่เป็นการชักชวนให้มาใช้บริการโดยตรง รวมถึงการได้รับค่าตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ
 
 

LastUpdate 24/09/2567 18:31:42 โดย : Admin
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 2:56 am