· การซื้อหุ้นคืนเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อการบริหารสภาพคล่องของกิจการ ซึ่งบริษัทใช้เป็นทางเลือกในการจัดสรรเงินสดให้กับผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากการจ่ายเงินปันผลแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำต่างๆ การซื้อหุ้นคืนช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เนื่องจากจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดลดลง ส่งผลให้ EPS สูงขึ้นและทำให้ผลตอบแทนจากการใช้ทุน (ROE) เพิ่มขึ้น และอาจช่วยป้องกันการถูกครอบงำกิจการจากบุคคลภายนอก
· นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อมูลค่าหุ้น ในกรณีที่ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น และบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องทางการเงินสูงกว่าความต้องการใช้ดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
· จากการวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียนไทยได้เลือกใช้การซื้อหุ้นคืนเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีที่ SET Index ปรับลดลงมาก เช่น จากการได้รับผลกระทบเชิงลบจากที่ธนาคารกลางสหรัฐประกาศทำ QE Taper Tantrum (2013) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (2020) และปัจจัยความผันผวนและความเชื่อมั่นภายในประเทศในช่วงแรกของปี 2024 ซึ่งหากพิจารณาในปีถัดไปหลังจากปีที่มีมูลค่าการซื้อหุ้นคืนสูง SET Index มักส่งสัญญาณฟื้นตัว
· จากข้อมูลปี 2024 พบว่าไม่เพียงแต่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET-50 เท่านั้นที่นิยมทำ Share Repurchase แต่บริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Non SET-100 ก็มีมูลค่าการทำ Share Repurchase สูงเช่นกัน นอกจากนี้ สังเกตเห็นว่ามูลค่า Share Repurchase รวมยังสูงที่สุดในเดือนมิถุนายน 2024 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ SET Index ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาต่อมา และหากพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการทำ Share Repurchase สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มเทคโนโลยี พบว่าดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการทำ Share Repurchase ต่ำกว่าอีกด้วย
· ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดกรอบและแนวทางสำหรับการดำเนินการซื้อหุ้นคืน เช่น การขออนุมัติโครงการจากผู้ถือหุ้น การเปิดเผยข้อมูล และการจำกัดการใช้เงินกู้ยืม แต่การซื้อหุ้นคืนในไทยอาจยังไม่ได้รับความนิยมมากอย่างในสหรัฐ หรือในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีโครงการ Corporate Value Up โดยในญี่ปุ่น มีมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดตัวดัชนี JPX Prime 150 การซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่ม ROE และการปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการ สอดคล้องกับดัชนี Nikkei 225 ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในเกาหลีใต้ก็มีโครงการ Corporate Value Up ในทำนองเดียวกันสำหรับปัญหา "Korea Discount" ผ่านมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย การตัดสินใจซื้อหุ้นคืนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงสภาพคล่อง โอกาสการลงทุน และความสมดุลระหว่างการสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในปัจจุบันกับการเติบโตในระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดความยืดหยุ่นทางการเงินหรือการสูญเสียโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
ข่าวเด่น