KBTG ประกาศความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง AI Singapore และ Google Research เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา LLM ในภูมิภาค ตอกย้ำยุทธศาสตร์ Human First x AI First ของ KBTG และบทบาทผู้นำด้าน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท ในการวิจัย พัฒนา และศึกษาเทคโนโลยีระดับโลก ภายใต้โครงการซีลด์ (Project SEALD) เร่งเสริมแกร่งเทคโนโลยีทางการเงินและสร้างสรรค์ผลผลิตด้านไอทีที่เป็นประโยชน์ให้กับลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคและธนาคารกสิกรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า โครงการซีลด์ ?(Southeast Asian Languages in One Network Data: SEALD) ถูกริเริ่มโดย AI Singapore และ Google Research เมื่อเดือนมีนาคม 2024 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝน พัฒนา และประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) สำหรับภาษาที่ใช้ในอาเซียน เช่น ภาษาไทย อินโดนีเซีย ทมิฬ ฟิลิปปินส์ และพม่า ด้วยการจับมือกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ ที่เชี่ยวชาญด้าน LLM โครงการนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถของ LLM และความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ไปจนถึงส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ LLM ตลอดทั้งภูมิภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
ด้วยจุดประสงค์ของโครงการ SEALD ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Human First x AI First ของ KBTG ในการมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยยังคงมนุษย์ไว้ซึ่งศูนย์กลาง KBTG จึงได้มีการจับมือกับ AI Singapore และ Google Research เพื่อเข้าร่วมโครงการ SEALD ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ LLM ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค โดยเชื่อว่าความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ประกอบกับทรัพยากรที่สร้างขึ้นจาก ThaLLE by KBTG โมเดล LLM อัจฉริยะด้านการเงิน จะช่วยส่งเสริมโครงการให้พัฒนาและเติบโตยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ KBTG ได้เรียนรู้และทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้าน AI ระดับโลก รวมถึงเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนการเติบโตของ LLM ในภูมิภาค
สำหรับเป้าหมายของโครงการในปีนี้ KBTG จะเน้นการร่วมสร้างชุดข้อมูลในภาษาไทยคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ (Underrepresented) และในอนาคตจะมีการส่งนักวิจัยจากแล็บไปร่วมพัฒนาและประเมินโมเดลในโครงการต่อไป โดยหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้จากความร่วมมือนี้มาใช้ประโยชน์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินให้กับธนาคารกสิกรไทย และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ KBTG ให้บริการทั่วทั้งภูมิภาค อีกทั้งช่วยให้ชุมชน LLM มีโมเดลที่ไม่เพียงแค่เข้าใจภาษาและบริบททางวัฒนธรรมของไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย นำไปสู่การสร้างชุดข้อมูลที่มีความหลากหลายและคุณภาพสูง เพื่อนำไปเทรนโมเดลต่าง ๆ ในเครือข่าย SEA-LION (Southeast Asian Languages in One Network) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของโครงการนี้ได้โดยทั่วกันผ่าน Open Source ร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศ LLM ในภูมิภาคให้พัฒนาไปอีกขั้น
ด้าน ดร.Leslie Teo, Senior Director of AI Products, AI Singapore กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับ KBTG ในฐานะพันธมิตรและสมาชิกภายใต้โครงการซีลด์ ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน AI ทรัพยากร และบทบาทการเป็นองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายของโครงการซีลด์ เราตั้งตารอที่จะทำงานกับ KBTG เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน ในการเพิ่มบทบาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงการ LLM ระดับโลก
นาย Harsh Dhand, Head of Google Research & Core Partnerships, APAC, Google Research กล่าวในตอนท้ายว่า การส่งเสริมความเข้าใจภาษาในภูมิภาคนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดช่องว่างทางดิจิทัล และเพื่อให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าด้าน AI มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ต้อนรับ KBTG ในฐานะพันธมิตรหลักของโครงการซีลด์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในความร่วมมือครั้งนี้คือการปรับปรุงความพร้อมใช้งานของชุดข้อมูลภาษาไทยคุณภาพสูงสำหรับการฝึกฝนและประเมินโมเดล ปูทางสู่การพัฒนาโมเดลภาษาที่แข็งแกร่งและครอบคลุมภาษาที่ใช้ในภูมิภาค
ข่าวเด่น