สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนสอดคล้องกับเงินหยวนที่แข็งค่า และราคาทองคำตลาดโลกที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 33.00 และ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แข็งค่าสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. 2565) โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ สวนทาง Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า (โดยตลาดประเมินว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 25 basis points ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป)
อนึ่ง ในสัปดาห์นี้ ธปท. มีการส่งสัญญาณติดตามดูแลสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้
• ในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ก.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 695 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,884 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 11,882 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.10-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนส.ค. ของธปท. ถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนระหว่างสัปดาห์ แต่ปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน
หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายทำกำไรหุ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มสื่อสาร โรงไฟฟ้า และไฟแนนซ์ ระหว่างรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีหุ้นไทยกลับมาย่อตัวลงอีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะการลงทุนของต่างชาติที่กลับมาขายสุทธิหุ้นไทย ประกอบกับมีปัจจัยลบจากการที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยทั้งปีนี้และปีหน้าลง 0.3% ไปที่ระดับ 2.3% และ 2.7% ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรในหุ้นหลายกลุ่ม นำโดย กลุ่มแบงก์ รวมถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้างและปิโตรเคมีที่ดีดตัวขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้ อนึ่ง หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์สวนทางภาพรวมของตลาดหุ้นภูมิภาค
• ในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,450.15 จุด ลดลง 0.11% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 57,371.50 ล้านบาท ลดลง 6.68% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.24% มาปิดที่ระดับ 354.53 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (30 ก.ย.-4 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,420 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,475 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่น และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของยูโรโซน
ข่าวเด่น